
รัฐงัด2แผนดึงเกษตรกรเข้าโซนนิ่ง ปล่อยเงินเกี๊ยว-ปั้นกองทุนอุดหนุนรับราคาตกต่ำ.
แผนโซนนิ่งเร่งระดมข้อมูลจังหวัดหาพื้นที่เหมาะสม-ไม่เหมาะสม แต่ต้องรอยุทธศาสตร์ 4 พืชคลอดก่อน รัฐ-เอกชนออกความเห็น ต้องมีกลไกสร้างแรงจูงใจปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การสนับสนุนของรัฐเพื่อให้เกษตรกรเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสม สมาคมมันสำปะหลังพร้อมรวมกลุ่มเชื่อมต่อคลัสเตอร์กับชาวไร่
นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงความคืบหน้าของการจัดเตรียมข้อมูลแผนโซนนิ่งภาคเกษตรว่า ขณะนี้ให้หน่วยงานราชการจังหวัดไปสำรวจพื้นที่ภาคเกษตรที่ถูกจัดโซนตามความเหมาะสม 4 ระดับ (S1-S4) และรายงานกลับมาว่าในพื้นที่มีความต้องการอย่างไร
ส่วนข้อสรุปว่าจะลดหรือเพิ่มพื้นที่ของพืชต่าง ๆ เท่าไหร่จะต้องรอให้แผนยุทธศาสตร์ 4 สินค้าพืช ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และแผนยุทธศาสตร์ข้าวกับยางพาราเสร็จเรียบร้อยก่อน จึงจะกำหนดพื้นที่โซนนิ่งได้
นายชวลิตกล่าวว่า ข้อมูลเบื้องต้นที่ทางกรมพัฒนาที่ดินจัดทำเป็นการโซนนิ่งจากภาพรวมความเหมาะสมของดิน แหล่งน้ำ สภาพอากาศ ปริมาณน้ำฝน รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะมีปริมาณผลผลิตในพื้นที่มากพอตั้งโรงงานเชื่อมต่อห่วงโซ่อุปทาน
เงินเกี๊ยว-รัฐอุดหนุนจูงใจ
นายชวลิตให้ความเห็นว่า แรงจูงใจที่ทำให้เกษตรกรเปลี่ยนมาปลูกพืชใด ๆ คือเรื่องราคา ซึ่งที่ผ่านมาทำให้เกษตรกรแห่ปลูกจนผลผลิตล้นตลาด การโซนนิ่งจะต้องเปลี่ยนระบบนี้โดยแนะนำให้เกษตรกรเข้าใจระบบตลาดโลกและความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ รวมถึงใช้แรงจูงใจแบบเดียวกับระบบเงินเกี๊ยวในพืชอ้อย มีกองทุนของแต่ละพืช หรือใช้เงินสนับสนุนจากรัฐ
ด้านนายคนิต ลิขิตวิทยาวุฒิ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ขณะนี้ไทยมีพื้นที่เหมาะสมน้อย (S3) และพื้นที่ไม่เหมาะสม (S4) ที่ปลูกข้าวอยู่ 27-28 ล้านไร่ ซึ่งพื้นที่ตรงนี้จะปลูกพืชอื่น
โดยแรงจูงใจให้เกษตรกรเปลี่ยนแปลงเป็นได้หลายอย่าง เช่น การปรับปรุงดินและน้ำในพื้นที่นั้น ให้ความมั่นใจด้านราคารับซื้อแน่นอน ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สร้างความยั่งยืนให้กับสินค้าพืช แต่จะใช้กลไกอะไรเป็นแรงจูงใจต้องขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ที่กำลังจัดทำอยู่
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมอาหารสัตว์ไทย กล่าวในทิศทางเดียวกันว่า พื้นที่ที่จะจัดโซนนิ่งคือบริเวณที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสม ซึ่งมันสำปะหลังและอ้อยยังมีความต้องการผลผลิตเพิ่ม ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีความต้องการเพิ่มจาก 5 ล้านตันเป็น 8 ล้านตันในอนาคต จะเน้นการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ก่อน หากไม่สำเร็จก็จะพิจารณาเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก
นายพรศิลป์กล่าวว่า การจะเปลี่ยนพื้นที่หนึ่ง ๆ ให้ปลูกพืชอย่างอื่นต้องมีการเจรจากันตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทั้งพืชใหม่และพืชเดิมที่เคยปลูกอยู่ ส่วนกลไกจูงใจต้องบริหารความเสี่ยง โดยถ้าราคาตลาดโลกลดต่ำกว่าต้นทุนการผลิต รัฐต้องพร้อมที่จะสนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือเกษตรกร ส่วนถ้าจะทำเป็นลักษณะกองทุนก็ควรทำเป็นกองทุนรวมทุกพืชเศรษฐกิจมากกว่าแยกจากกัน
ส.มันฯหวังตั้งคลัสเตอร์ร่วมชาวไร่
นายเสรี เด่นวรลักษณ์ กรรมการสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สภาหอการค้าไทยต้องการเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวเป็นมันสำปะหลังประมาณ 2 ล้านไร่ แต่ขณะนี้ยังไม่มีแผนว่าจะใช้พื้นที่ไหน แต่ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติกำลังศึกษาแร่ธาตุในดินที่เหมาะสมปลูกอยู่ และหวังว่ากรมพัฒนาที่ดินจะมีข้อมูลเหล่านี้อยู่แล้วและพร้อมเปิดเผยให้ทราบ
นายเสรีกล่าวว่า ต้องการให้พื้นที่ปลูกมีลักษณะการรวมกลุ่มระหว่างเกษตรกรกับโรงงาน โดยสมาคมการค้ามันสำปะหลังพร้อมจะประสานกับเกษตรกรที่ต้องการเปลี่ยนมาปลูกมัน เพราะผู้ประกอบการต้องการผลผลิตเพิ่มอยู่แล้ว สามารถหารือกันเพื่อสร้างเป็นคลัสเตอร์
โดย : ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์ 17 ก.ย.57
รับลูกคสช.ดันนโยบายบริหารพื้นที่เกษตร.
สิริวุทธิ์ เสียมภักดี
นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า สมาคมฯ สนับสนุนนโยบายของ คสช. ผลักดันนโยบายบริหารพื้นที่เกษตรกรรมของพืช (Zoning) โดยเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวที่อยู่ในพื้นที่ไม่เหมาะสมไปสู่การปลูกอ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมันและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่ราคาสินค้าและสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่เกษตรกร ซึ่งการดำเนินนโยบายดังกล่าวให้ประสบความสำเร็จนั้น ทางภาครัฐต้องให้ความสำคัญการเลือกพื้นที่เพาะปลูกพืชแต่ละชนิดที่เหมาะสม การส่งเสริมปลูกพืชเกษตรที่ต้องคำนึงถึงการนำผลผลิตที่สามารถนำไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่พืชผลทางเกษตรสูงสุด
ทั้งนี้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย มองว่าอ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจที่เหมาะต่อการส่งเสริมให้ชาวนาหันมาปรับเปลี่ยนไร่นาเป็นไร่อ้อย เนื่องจากอ้อยสามารถนำใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องได้
ที่มา : ข่าวบ้านเมือง วันที่ 8 กันยายน 2557
วางยุทธศาสตร์โซนนิ่ง4พืช ศก. ตั้งเป้า27ล.ไร่ลุยปลูก ‘ข้าวโพด-มัน-อ้อย-ปาล์ม
เลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์
นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่ารอบปีที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศพื้นที่เหมาะสม (โซนนิ่ง) สำหรับสินค้าเกษตรที่สำคัญ 20 ชนิด ซึ่งขณะนี้มีการดำเนินงานไปบางส่วนแล้ว โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดทำหน้าที่บริหารจัดการผลผลิตในรายจังหวัด ดูความสมดุลของผลผลิตสินค้าการเกษตรและการตลาด ควบคู่ไปพร้อมกับเกษตรจังหวัดที่ทำหน้าที่ในการสำรวจพื้นที่ความเหมาะสมกับการทำโซนนิ่ง ซึ่งพื้นที่ใดที่เหมาะสมกับพืชหรือสัตว์ชนิดนั้นๆ ก็จะดำเนินการส่งเสริมทั้งในเรื่ององค์ความรู้ แหล่งเงินทุน เพื่อให้ผลผลิตออกมาดีมากยิ่งขึ้น ส่วนพื้นที่ใดไม่เหมาะสม ก็จะดำเนินการปรับเปลี่ยน ด้วยการส่งเสริมให้มีการทำการเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ ที่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และปัจจัยด้านการตลาด
ขณะเดียวกัน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นว่า การทำโซนนิ่งจะต้องไม่กระทบกับพืชหลักที่ปลูกอยู่ จึงมีการตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรรายพืชเศรษฐกิจจำนวน 4 ชนิด คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย เพื่อปรับการดำเนินการจัดทำโซนนิ่งพืชให้เหมาะสมกับพืชเศรษฐกิจทั้ง 4 ชนิด เป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อควบคุมปริมาณการผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาด รักษาราคาที่ดีให้กับเกษตรกร
โดยพื้นที่ที่จะดำเนินการจัดโซนนิ่งในเบื้องต้นเป็นพื้นที่ 27 ล้านไร่ที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าว ด้วยการส่งเสริมให้ปลูกพืชทั้ง 4 ชนิด เข้ามาแทนที่ โดยสัดส่วนของพืชแต่ละชนิดในขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขที่แน่นอน โดยพืชลำดับแรกที่มีการดำเนินการ
ส่งเสริมการปลูกไปแล้ว คือ อ้อย เป็นพื้นที่จำนวน 400,000 ไร่ จากผลการดำเนินงานในระยะแรกถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายของคสช.ที่ไม่สนับสนุนให้มีการรับจำนำข้าว จึงทำให้การดำเนินงานการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้หันมา ปลูกอ้อยเป็นไปได้ด้วยดี
“ทั้งนี้ การมุ่งเป้าโซนนิ่งพืชเศรษฐกิจดังที่กล่าวมา เนื่องจากพืชทั้ง 4 ชนิด เป็นพืชที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรมากขึ้น หากปลูกในพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับแหล่งรับซื้อวัตถุดิบ จะทำให้การทำเกษตรของเกษตรกรมีต้นทุนที่ต่ำลง แต่ได้ผลกำไรมากขึ้น” นายเลอศักดิ์ กล่าว
ที่มา : ข่าวแนวหน้า วันจันทร์ที่ 8 กันยายน 2557
กระทรวงพาณิชย์ มั่นใจส่งออกมันสำปะหลังปีนี้จะมากถึง 10 ล้านตัน
ปานจิตต์ พิศวง
หลังตลาดสินค้ายังมีความต้องการสูง คาดว่าราคาจำหน่ายในอนาคตมีแนวโน้มปรับตัวเกิน 2 บาทต่อกิโลกรัม
นางสาวปานจิตต์ พิศวง รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดระเบียบการบริหารการนำเข้า-ส่งออกมันสำปะหลังในการดูแลคุณภาพมาตรฐานของมันเส้น และแป้งมันที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภททั้งการผลิตอาหารสัตว์ และการผลิตเป็นพลังงานทดแทน หรือ เอทานอล นอกจากนี้ได้ร่วมกับผู้ประกอบการยกระดับคุณภาพมันสำปะหลัง ในโครงการมันเส้นสะอาด เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมในตลาดส่งออก โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการใส่ใจในเรื่องของเชื้อแป้ง การลดสิ่งเจือปน เพื่อให้สามารถป้อนวัตถุดิบคุณภาพเข้าสู่อุตสาหกรรม เพิ่มโอกาสเชิงการตลาด รวมทั้งทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจว่ามีตลาดรองรับ โดยปัจจุบันไทยมีสัดส่วนการใช้มันสำปะหลังในประเทศร้อยละ 35 และเพื่อการส่งออกร้อยละ 65 สำหรับการส่งออก ไทยส่งออกมันเส้นไปยังจีนสัดส่วนร้อยละ 90 รองลงมาเป็นญี่ปุ่น และเกาหลี ทำให้การส่งออกมันสำปะหลัง 7 เดือนแรกไทยสามารถส่งออกได้ในปริมาณ 6 ล้าน 4 แสน 5 หมื่นตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 คิดเป็นมูลค่า 64,674 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 ซึ่งคาดว่าในปีนี้จะสามารถส่งออกมันสำปะหลังได้ในปริมาณ 10 ล้านตัน มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 100,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ส่งออกได้ 9 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 98,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจ เนื่องจากตลาดยังมีความต้องการมันสำปะหลังสูง
นอกจากนี้จากการสำรวจที่ผ่านมาไทยสามารถผลิตหัวมันสดได้เฉลี่ย 29-30 ล้านตันหัวมันสด ซึ่งคาดว่าปีนี้จะสามารถผลิตได้ที่ 31 ล้านตันหัวมันสด ขณะที่ความต้องการในตลาดต่อปีอยู่ที่ 40 ล้านตันหัวมันสด ส่วนแนวโน้มราคามันสำปะหลังในอนาคต เชื่อว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับ 2 บาท 50 สตางค์ - 3 บาทต่อกิโลกรัม
ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 7 กันยายน 2557
ก.เกษตรฯเตรียมเสนอ4แผนด่วนต่อรมว.คนใหม่
วลิต ชูขจร
ปลัดเกษตรฯ เตรียมเสนอแผนงาน 4 ด้านหลัก ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงและสหกรณ์คนใหม่ หวังเร่งขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตร ตามมติ คสช. และพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศภายใต้งบปี’58
นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ เตรียมเสนอแผนงานโครงการสำคัญเร่งด่วนที่กระทรวงเกษตรฯ ได้ขับเคลื่อนตามมติของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผลการดำเนินงานตามภารกิจที่สำคัญประจำปี 2557 และการขยายผลต่อเนื่องตามแผนงานโครงการสำคัญในปีงบประมาณ 2558 ต่อนายปีติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คนใหม่ พิจารณาผลักดันแผนงานโครงการต่างๆ ทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง และระยะยาว รวมถึงรับทราบสภาพปัญหาด้านการเกษตรที่สำคัญ ทั้งในด้านเกษตรกรขาดองค์ความรู้ในการทำการเกษตรและใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ไม่เหมาะสม ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก ภัยธรรมชาติ และความผันผวนด้านราคา อันจะนำไปสู่นโยบายในการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรที่สำคัญ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันการส่งออกสินค้าเกษตรของประเทศ
“ในระยะ 3 เดือนที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานต่างๆ ให้สอดคล้องกับนโยบาย คสช. และเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคเกษตร แบ่งเป็น 4 ด้านสำคัญ คือ.ด้านเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ด้านสินค้าเกษตร ด้านทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร และด้านการบริหารจัดการองค์กร โดยแผนงานโครงการสำคัญๆ ในแต่ละด้าน ประกอบด้วย 1. ด้านเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร โดยปรับกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิต ผ่านศูนย์เรียนรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรตามหลักโซนนิ่ง อำเภอละ 1 จุด รวม 882 จุดทั่วประเทศ การแก้ไขปัญหาสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ทั้งในด้านคดีความ การฟื้นฟูกิจการ และการเยียวยา การแก้ไขปัญหาแรงงานประมง ที่กระทรวงเกษตรฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนแม่บทประมงใน 9 แนวทางหลัก เช่น การเร่งรัดการขึ้นทะเบียนแรงงานประมงต่างด้าว การตรวจตราเรือประมงพาณิชย์ 2. ด้านสินค้าเกษตร จัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้า (Roadmap) ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย การพัฒนายางพาราทั้งระบบ ทั้งการจัดการสต็อกยาง 2.1 แสนตัน มาตรการสนับสนุนสินเชื่อให้สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง และแปรรูปยาง การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง การแก้ไขปัญหาโรคอีเอ็มเอสในสินค้ากุ้ง 3. ด้านทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร ซึ่งขณะนี้ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด การวางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง รวมถึงบริหารจัดการน้ำทั้งระบบไม่ว่าจะเป็นระบบกระจายน้ำ ระบบป้องกันน้ำท่วม เพิ่มเสถียรภาพน้ำต้นทุน รวมถึงกำหนดมาตรการส่งเสริมและขยายผลการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ โดยตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ การจัดทำปุ๋ยอินทรีย์กับหน่วยทหาร และส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้เอง 4. การบริหารจัดการองค์กร โดยยึดหลักธรรมาภิบาล สุจริตและโปร่งใส อาทิ การแต่งตั้งโยกย้ายแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงจะยึดหลักความรู้ ความสามารถ คุณธรรมและโปร่งใส การจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่างๆ ของภาครัฐ และส่งเสริมการเป็นข้าราชการที่ดี เป็นต้น” นายชวลิต กล่าว
สำหรับแผนงานโครงการในปีงบประมาณ 2558 กระทรวงเกษตรฯ ได้รับจัดสรรในวงเงินประมาณ 84,000 ล้านบาท โดยให้ความสำคัญกับการทำงานเชิงบูรณาการ มีการกำหนดแผนงานและเป้าหมายร่วมกันโดยใช้สินค้าและพื้นที่เป้าหมายในการบูรณาการ ประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร 2. ด้านการพัฒนาสินค้าเกษตร 3. ด้านทรัพยากรการเกษตร/โครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร และ 4. ด้านการบริหารจัดการภาครัฐ โดยมีโครงการสำคัญ เช่น การบริหารเขตเกษตรเศรษฐกิจ การพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง เมืองเกษตรสีเขียว การพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน การบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา การแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ และการพัฒนาศักยภาพภาคเกษตรเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เป็นต้น
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันพฤหัสบดีที่ 4 กันยายน 2557