
“สมศักดิ์ ป้องปัญจมิตร” เกษตรกรดีเด่น ต้นแบบปลูกมันน้ำหยด.
สมศักดิ์ ป้องปัญจมิตร
นายสมศักดิ์ ป้องปัญจมิตร อายุ 42 ปี เกษตรกรบ้านสมบัติเจริญ ตําบลกุดโบสถ์ อําเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา เป็นเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตมันสําปะหลังในระบบน้ำหยด จนประสพผลสําเร็จได้รับการคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่นระดับอําเภอ ระดับจังหวัด ระดับเขต และระดับประเทศประจําปี 2556 จนได้รับการคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาอาชีพทําไร่
โดยนายสมศักดิ์ได้เริ่มต้นประกอบอาชีพเกษตรกรรม จากที่บิดามารดาได้มอบที่ดินทํากินให้พื้นที่ 23 ไร่ แบ่งปลูกต้นไม้สักทองจํานวน 2 ไร่เศษ เพื่อสร้างบ้านเรือน ส่วนพื้นที่ที่เหลือได้ปลูกมันสําปะหลัง ปลูกอ้อยโรงงาน มะม่วง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่เจอปัญหาอุปสรรค ราคาผลผลิตตกต่ำ ปัจจัยการผลิตราคาสูง ภัยแล้ง และโรคแมลงรบกวน จึงประสบภาวะขาดทุนเรื่อยมา
จนกระทั่งปี 2535 นายสมศักดิ์ได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่เดิมเป็นที่เพาะปลูกมันสําปะหลังแทน แต่การปลูกแบบเดิมตามฤดูกาลที่ต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ทําให้ผลผลิตที่ได้ไม่เป็นไปตามต้องการ
ต่อมาได้รับการแนะนําจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรสํานักงานเกษตรอําเภอเสิงสาง และนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรของสํานักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา ที่เห็นว่าพื้นที่ของนายสมศักดิ์สามารถขุดบ่อน้ำจากใต้ดินได้ จึงให้ทดลองใช้ระบบน้ำแบบสปริงเกอร์และแบบน้ำหยด ในแปลงมันสําปะหลังพันธุ์ห้วยบง 60 ซึ่งได้ผลผลิตมากถึง 9 ตันต่อไร่ จากเดิม 4-5 ตันต่อไร่ จึงถือว่าเป็นต้นแบบเกษตรกรผู้ปลูกมันสําปะหลังระบบน้ำหยด
เมื่อมีกําไรมากขึ้นจึงซื้อที่ดินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบันมีพื้นที่ทั้งหมด 80 ไร่ มีการจัดการระบบน้ำหยด สามารถปลูกมันสําปะหลังได้ตลอดทั้งปี ไม่ต้องรอน้ำฝนและเสี่ยงกับภัยแล้ง ช่วยลดต้นทุนการผลิต จากเดิมปลูกปีละ 1-2 ครั้ง จึงจะได้เก็บเกี่ยวผลผลิต ระบบน้ำหยดลงทุนวัสดุอุปกรณ์ โดยใช้งบประมาณ 7 พันบาทต่อไร่ เมื่อเปรียบเทียบต้นทุน ระหว่างการปลูกแบบทั่วไปกับปลูกแบบระบบน้ำหยด
การลงทุนต่อไร่ผลสรุปออกมาคือปลูกทั่วไป 6,620 บาท แต่ปลูกระบบน้ำหยดลงทุน 9,935 บาท ผลผลิตที่ได้ปลูกทั่วไป 5 พันกิโลกรัม ปลูกระบบน้ำหยดได้ผลผลิต 1 หมื่นกิโลกรัม ขายราคา 2.30 บาท/กก. ปลูกทั่วไปขายได้เงิน 11,500 บาท ปลูกระบบน้ำหยดขายได้เงิน 23,000 บาท และผลกําไรต่อไร่ ปลูกทั่วไปได้กําไร 4,880 บาท ปลูกระบบน้ำหยดได้กําไร 13,000 บาท แม้ว่าการลงทุนจะสูง ดังนั้นวิธีการปลูกแบบจัดระบบหมุนเวียนให้สามารถเก็บผลผลิตได้ทุกเดือน จึงมีรายได้ตลอดทั้งปี
นายสมศักดิ์และครอบครัวได้น้อมนําหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจําวัน หลังจากประสพผลสําเร็จในการปลูกมันสําปะหลังในระบบน้ำหยด และมีความมั่นคงในอาชีพแล้ว ได้เปิดไร่เป็นแหล่งเรียนรู้ โดยเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์เกี่ยวกับปัญหา และความสําเร็จของการใช้เทคโนโลยีระบบน้ำหยดในไร่มันสําปะหลังให้แก่ภาครัฐ เอกชน เกษตรกร นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ยังเป็นที่ปรึกษาของเกษตรกรผู้ปลูกมันสําปะหลังน้ำหยดในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียง 110 ราย พื้นที่กว่า 1,530 ไร่
นายเฉลิมศักดิ์ ประสิทธิ์สุวรรณ เกษตรจังหวัดนครราชสีมา กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดเด่นของนายสมศักดิ์
ซึ่งมีความขยัน หมั่นเพียร ใฝ่หา และรับความรู้ตลอดเวลา รวมทั้งมีการประยุกต์และประดิษฐ์คิดค้นเครื่องจักรเครื่องมือในการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตมาใช้กับแปลงตนเองให้เกิดความเหมาะสม และยังสามารถถ่ายทอดสู่ผู้อื่นได้ จึงเป็นเกษตรกรผู้นําตัวอย่างที่มีแนวคิด วิธีปฏิบัติก้าวหน้า พัฒนาอาชีพเกษตรกรรม พัฒนาชุมชนให้เจริญ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ดี และได้รับการคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจําปี 2556 สาขาอาชีพทําไร่ โดยจะได้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัล ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 11 กันยายน2557