
'ประยุทธ์'ยก'คลัสเตอร์มันโคราช'แก้ปัญหาเกษตร
นายกฯ แนะเกษตรกรนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ผ่านการทำเกษตรอินทรีย์ ยกโมเดล"คลัสเตอร์มันโคราช"แก้ปัญหาเกษตร
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติว่า ตนเห็นว่าการรวมกลุ่มกันของสหกรณ์นั้นมีความสำคัญที่สุด เราจะได้สามารถช่วยได้ตรงช่วยให้เกษตรกรมีอำนาจต่อรองกับพ่อค้าคนกลางได้ ช่วยในเรื่องการจัดหาตลาดและช่องทางการจัดจำหน่าย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งพี่น้องเกษตรกรก็จำเป็นต้องสร้างให้ชุมชนตนเองเข้มแข็งด้วย เป็นชุมชนที่พึ่งตนเองให้ได้ นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาประยุกต์ใช้ ผ่านการทำเกษตรอินทรีย์ การลดการใช้ปุ๋ยเคมี ลดการใช้ยาฆ่าแมลง เป็นพืชที่เป็นออร์แกนิค ที่ปลอดภัย ก็จะช่วยทั้งในเรื่องลดต้นทุน เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร มีตัวอย่างหลายพืชที่ที่ชาวเกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์และประสบความสำเร็จในหลายจังหวัด หลายอำเภอ ไม่ว่าจะเป็นอยุธยา นครปฐม อ่างทอง พิจิตร นครราชสีมา และอีกในหลายๆ จังหวัด ทุกคนก็ยินดีที่จะให้คำปรึกษาและช่วยเหลือเกษตรกรที่สนใจ หากจะหันมาทำเกษตรอินทรีย์แทน เพราะว่ามีรายได้สูงขึ้น มากกว่าการทำนาด้วยซ้ำไป
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า ทั้งหมดนี้จะทำให้รัฐบาลสามารถช่วยเหลือ หรือสนับสนุนพี่น้องชาวเกษตรกรได้อย่างทั่วถึง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผ่านระบบสหกรณ์ที่เป็นเครือข่ายกัน หลายท่านก็เห็นด้วยกับแนวทางนี้ แล้วก็สัญญาว่าจะนำไปพูดคุยหารือกันระหว่างกันในชุมชนต่อไป ช่วยกันขึ้นทะเบียนกันให้เรียบร้อย ก็จะได้มีส่วนราชการเข้าไปดูแลได้อย่างใกล้ชิดขึ้น
"สำหรับตัวอย่างชุมชนที่เข้มแข็ง และผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมชม ที่จังหวัดนครราชสีมา คือการจัดการ “คลัสเตอร์มันโคราช”(Korat Tapioca Cluster: KOTAC) ซึ่งถือเป็นการทำการเกษตรแบบบูรณาการที่มีการบริหารจัดการร่วมกันระหว่างภาครัฐในระดับจังหวัด กลุ่มเกษตรชุมชนและผู้ผลิตภาคเอกชนที่เข้มแข็ง มีการรวมตัวกันของกลุ่มสหกรณ์ภายในจังหวัด เพื่อบริหารจัดการผลผลิต มันสำปะหลัง และเป็นต้นทางในการจัดหาช่องทางการจัดจำหน่าย จัดการระบบการตลาด มีกลุ่มอุตสาหกรรมภาคเอกชนที่ร่วมกันรับซื้อผลิตผลมันสำปะหลังเพื่อนำไปแปรรูป จัดจำหน่ายเป็นกลุ่มปลายทาง ในขณะที่ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานเอกชนอีกหลายแห่งในจังหวัดนครราชสีมา ก็ได้สนับสนุนในการค้นคว้าวิจัย พัฒนาองค์ความรู้ เพื่อให้การผลิตและการแปรรูปมันสำปะหลังนั้น มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น"พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่าปัจจุบันได้มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ เพื่อวิเคราะห์ปัญหา หาทางแก้ไข รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังให้แก่เกษตรกร ผ่านการจัดทำแปลงต้นแบบที่มีการนำเทคโนโลยี 5 ด้าน ได้แก่ การจัดการปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การจัดการน้ำ การจัดการดินดาน การจัดหาพันธุ์มันสำปะหลังที่เหมาะสมกับพื้นที่ รวมถึงการป้องกันการกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน ซึ่งเกษตรกรที่จะต้องเข้าร่วมโครงการนั้น จะปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หลาย ๆ คนก็ทำให้เกิดผลผลิตที่มีรายได้ ที่มีราคาดี มีคุณภาพ นอกจากนั้น ในกลุ่มเกษตรกร ก็มีการสร้างความสัมพันธ์ สร้างเครือข่าย มีกิจกรรมในการถ่ายทอดเทคโนโลยี ในการลดต้นทุน มีการศึกษาดูงานและบูรณาการอย่างสม่ำเสมอ ตนอยากให้ชุมชน เกษตรกร และผู้ประกอบการในจังหวัดต่าง ๆ ทำงานร่วมกันเช่นนี้ ก็ได้ให้ทั้งกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมกันบูรณาการลงพื้นที่ เข้าไปดูแลช่วยเหลือเกษตรกร และสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ในทุกจังหวัดให้เข้มแข็งให้ได้ จะได้เป็นตัวกลางในการติดต่อกับภาครัฐ และภาคเอกชนในการบริหารจัดการ รวมทั้งการรับซื้อผลผลิตในพื้นที่ ซึ่งอาจจะทำให้ราคาสูงขึ้น
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า เท่าที่รับทราบนั้น การซื้อขายในพื้นที่ตั้งตลาดชุมชนต่างๆ นั้น ทำให้ราคาข้าวก็สูงขึ้น ผลผลิตอื่นก็สูงขึ้นตามลำดับ แตกต่างจากการซื้อขายให้กับพ่อค้าคนกลางในช่วงที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้ เราสามารถดำเนินการได้ทันที ทุกคนต้องช่วยกันแล้วก็เป็นสิ่งจำเป็นด้วยทุกคนต้องปรับตัว สร้างความเข้มแข็งให้ได้ ถ้ารอการช่วยเหลืออย่างเดียวก็ไปไม่ได้อยู่ดี เพราะฉะนั้นแค่เราร่วมมือกัน ประสานกัน สร้างพลังขึ้นมาก็จะมีประสิทธิภาพ ปัญหาหลายอย่างก็จะไม่เกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาในเรื่องของราคาตกต่ำ ผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งกดราคาเหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้นรัฐก็จะดูแลให้มากขึ้นในส่วนตรงนี้ แต่ขอให้เป็นสหกรณ์ให้ได้ ที่เข้มแข็งด้วย เล็ก ๆ ก็รวมเป็นสหกรณ์ใหญ่ขึ้นมาเหมือนกับที่จังหวัดนครราชสีมาเขาทำกัน
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 6 กุมภาพันธุ์ 2558
ธ.ก.ส.ออกมาตรการรักษาระดับราคา-อัดฉีด 3 พันล.ชะลอขุดมันสำปะหลัง
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ในช่วงเดือนธันวาคม- มีนาคม เป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตรวมออกสู่ตลาดประมาณ 30.9 ล้านตัน มากกว่าปีก่อนซึ่งอยู่ที่จำนวน 30.02 ล้านตัน ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาราคาผลผลิตมันสำปะหลังตกต่ำ รัฐบาลจึงได้ออกมาตรการทั้งระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว ผ่าน ธ.ก.ส. ประกอบด้วย โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อชะลอการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง โครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก (ในระบบน้ำหยด) โครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับสถาบันเกษตรกร และโครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับมาตรฐานการแปรรูปมันสำปะหลัง
ดังนั้น ในช่วงนี้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในปีการผลิต 2557/58 ที่มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการเนื่องจากต้องการชะลอการขุดหัวมันไว้ก่อน สามารถติดต่อขอใช้บริการสินเชื่อเพื่อชะลอการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง ได้ที่ ธ.ก.ส.ทุกสาขา วงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 50,000 บาท รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 ไม่เกิน 6 เดือนนับแต่วันกู้ แต่ไม่เกิน 30 กันยายน 2558 ระยะเวลาการกู้ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 มีนาคม 2558
ทั้งนี้ คาดว่าจะมีเกษตรกรต้องการใช้สินเชื่อประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยเหลือเกษตรกรได้ไม่น้อยกว่า 150,000 ครัวเรือน อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจในพื้นที่ เช่น จ.นครสวรรค์ พบว่าเกษตรกรบางส่วนพอใจกับราคาผลผลิตมันสำปะหลัง ซึ่งขณะนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 2.5-2.7 บาท จึงทยอยขุดหัวมันขายไปบ้างแล้ว
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ 30 มกราคม 2558
เตือนชาวไร่มัน...ระวังโรคโคนเน่าฯ
เตือนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังเฝ้าระวัง โรคโคนเน่า-หัวเน่า เนื่องจากแปลงปลูกมีความชื้นสูง เชื้อราเติบโตเร็ว ขณะนี้พบระบาดแล้วใน 5 อำเภอ จังหวัดนครราชสีมา
นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า โรคโคนเน่า-หัวเน่า สร้างปัญหาอย่างมากกับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ทำให้ผลผลิตเกิดความสูญเสียโดยตรง โดยเฉพาะในแปลงปลูกที่มีการระบายน้ำได้ยาก มีความชื้นสูง โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งระยะต้นกล้า และระยะที่หัวลงแล้ว มีสาเหตุมาจากเชื้อราหลายชนิด ลักษณะอาการคือ ถ้าเกิดกับต้นเล็กจะทำให้รากเป็นรอยช้ำสีน้ำตาลและเน่า ต้นจะเหี่ยวเฉา ถ้าเกิดกับหัวจะทำให้หัวเน่าอย่างรวดเร็ว และมีกลิ่นเหม็น ใบเหี่ยวแล้วร่วง ถ้าเกิดรุนแรงต้น จะตายในที่สุด
นางวัชรีพร โอฬารกนก ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการศัตรูพืช กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่าง ภาคราชการ ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร ภาคเอกชน และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาโคนเน่า-หัวเน่า ของมันสำปะหลังในจังหวัดนครราชสีมา พบว่าขณะนี้มีการระบาดใน 5 อำเภอ ของจังหวัดนครราชสีมา คือ เสริงสาง ครบุรี หนองบุญมาก โชคชัย และปากช่อง ด้านกรมวิชาการเกษตรสรุปสาเหตุว่า เกิดจาก Phytophthora melonis,P.erythroceptica และ P.meadii ซึ่งเป็นราน้ำ สามารถอยู่อาศัยและแพร่กระจายได้ทั้งทางดิน ซากพืช และทางน้ำ ซึ่งสามารถควบคุมได้ โดย 1) ใช้ท่อนพันธุ์ที่ทนทานต่อโรค 2) จัดการดินให้มีการระบายน้ำได้ดี 3)ใช้สารเคมี เช่น อาลิเอท 50 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ราดต้นละ 500 ซีซี หรือพ่น 150 กรัม/ไร่ ซึ่งได้ผลในการควบคุมดีที่สุด
นอกจากนี้ทั้งสองหน่วยงานยังได้ร่วมกันหาแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร โดย 1) การจัดทำแปลงต้นแบบ โดยกรมวิชาการฯ เป็นผู้รับผิดชอบเพื่อเป็นแปลงทดสอบและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กรมส่งเสริมการเกษตร 2) จัดทำแปลงวิจัยชุมชน โดยกรมส่งเสริมฯจะร่วมกับโรงงาน สมาคมฯ เพื่อนำวิชาการที่กรมวิชาการฯ แนะนำและมีอยู่ในปัจจุบันไปใช้ในพื้นที่ โดยให้เกษตรกร และชุมชนพิจารณาเลือกวิธีการที่เหมาะสมของพื้นที่ เพื่อชะลอความเสียหายไม่ให้ลุกลามออกไป และหาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม 3) ถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมกัน ทั้งจากนักวิจัยสู่นักส่งเสริมการเกษตร และนักส่งเสริมการเกษตรสู่โรงงาน สมาคมฯ และเกษตรกร นอกจากนี้ยังมีการยกร่างมาตรฐานการจัดทำแปลงต้นพันธุ์มันสำปะหลังเพื่อแก้ไขปัญหาศัตรูพืช และสร้างความมั่นคงให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังอย่างยั่งยืน นางวัชรีพร กล่าวในที่สุด
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ 27 มกราคม 2558
พลังงานแจงไม่เลิกโควตาเอทานอล มัน-โมลาส
"ทวารัฐ สูตะบุตร" แจงไม่ได้ล้มสูตรโควตาผู้ค้าน้ำมันซื้อเอทานอลโมลาส-มันฯที่ 62 : 38 แต่เป็นนโยบายขอความร่วมมือ บังคับไม่ได้ ยันจะพยายามรักษาตลาดแก๊สโซฮอล์ทั้งระบบ เล็งโปรโมตการใช้แก๊สโซฮอล์ E20 และให้ราคาจำหน่ายเอทานอลจากโมลาสและมันฯเป็นราคาเดียวกัน
ก่อนหน้านี้กลุ่มผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังได้ทำหนังสือถึงกระทรวงพลังงาน เพื่อให้รักษาระดับส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ ให้อยู่ในระดับเหมาะสมและจูงใจให้ผู้บริโภคยังคงเลือกใช้ ภายหลังจากที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงต่อเนื่อง ส่งผลต่อราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ และมีแนวโน้มว่าความต้องการใช้เอทานอลจะลดลงและหันไปใช้น้ำมันเบนซินแทน รวมถึงเสนอให้กลับมาใช้การกำหนดโควตาให้ผู้ค้าน้ำมันซื้อเอทานอลจากโมลาสและมันสำปะหลังที่ 62 : 38 ตามเดิม หลังจากที่ยกเลิกไป
นายทวารัฐ สูตะบุตร รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สำหรับการกำหนดโควตาให้ผู้ค้าน้ำมันต้องซื้อเอทานอลจากมันฯและกากน้ำตาล (โมลาส) นั้น กระทรวงพลังงาน "ไม่ได้ยกเลิก" แนวทางดังกล่าว เนื่องจากเป็นเพียงการขอความร่วมมือจากผู้ค้าน้ำมัน จากสถิติในช่วงปี"57 ที่ผ่านมาสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 30 : 70 ซึ่งถือว่าเป็นสถิติที่ค่อนข้างดี จากนี้กระทรวงพลังงานจะเดินนโยบายการส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์มากขึ้น โดยเฉพาะประเภท E20 และ E85 เพื่อให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมเอทานอลขยายตัวได้ เพราะตลาดมีความพร้อมหลายประเด็น คือ 1) จำนวนรถที่ใช้น้ำมัน E20 จนถึง E85 มีมากขึ้น และ 2) สถานีบริการน้ำมันทั้งผู้ค้าน้ำมันไทย-ต่างชาติ ขยายหัวจ่ายครอบคลุมทั่วประเทศ
ในส่วนของผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังที่ต้องการให้รักษาความต่างของราคาน้ำมันในกลุ่มแก๊สโซฮอล์E10และ E20 รวมถึงน้ำมันเบนซินนั้น ขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังอยู่ในระหว่างปรับโครงสร้างราคาให้เหมาะสม รวมถึงส่วนต่างราคาน้ำมันแต่ละประเภทด้วย สำหรับต้นทุนการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังที่สูงกว่าโมลาสนั้น จากนี้จะเน้นให้กลไกของตลาดทำงานมากกว่า เมื่อต้นทุนการผลิตจากมันสำปะหลังสูงกว่า ผู้ผลิตควรปรับตัวพัฒนาคือ การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้สามารถแข่งขันกับโมลาสได้ เพราะสุดท้ายแล้ว กระทรวงพลังงานต้องการให้ราคาเอทานอลทั้ง 2 ประเภท มีราคาจำหน่ายเดียวกัน
"ขณะนี้ กระทรวงพลังงานมีความชัดเจนในระดับนโยบายที่จะมาโฟกัสน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 เพราะตลาดมีความพร้อมในหลายประเด็น ฉะนั้น กลุ่มผู้ผลิตเอทานอลมั่นใจได้เลยว่าระดับนโยบายยังเดินหน้าที่จะส่งเสริมต่อเนื่อง ในอนาคตตลาดแก๊สโซฮอล์จะต้องใหญ่ขึ้น ที่สำคัญ กระทรวงพลังงานยังคงเดินไปตามเป้าหมายที่วางไว้คือในปี"64 ความต้องการใช้เอทานอลจะต้องเพิ่มเป็น 9 ล้านลิตร/วัน"
รายงานข่าวเพิ่มเติมถึงปริมาณการใช้น้ำมันในกลุ่มแก๊สโซฮอล์ที่ผ่านมา ในเดือนพฤศจิกายน 2557 อยู่ที่ 22.7 ล้านลิตร/วัน และในเดือนธันวาคมอยู่ที่ 23 ล้านลิตร/วัน โดยกระทรวงพลังงานมีเป้าหมายที่จะให้มีการใช้เอทานอลในปี"64 อยู่ที่ 9 ล้านลิตร/วัน หรือมีอัตราการใช้เพิ่มขึ้น 500,000 ลิตร/ปี
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 23 มกราคม 2558
ไฟเขียวสินเชื่อ5หมื่นล.ช่วยไร่มัน
บอร์ดธ.ก.ส.อนุมัติผ่าน4โครงการ ออกแคมเปญจูงใจทายาทเกษตร
บอร์ด ธ.ก.ส.อนุมัติสินเชื่อช่วยเกษตรกรมันสำปะหลัง 4 โครงการ วงเงิน 5.12 หมื่นล้านบาท พร้อมคลอดมาตรการช่วยเหลือลูกค้าใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งซอฟต์โลน และพักชำระหนี้ให้ 3 ปี เผยมีแผนดึงลูกหลานเกษตรกร 2 แสนรายเป็นลูกค้า ออกแคมเปญคืนเงินดอกเบี้ยให้ 10%
แหล่งข่าวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ธนาคาร ที่มีนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2557 ได้อนุมัติมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปีการผลิต 2557/58 จำนวน 4 โครงการ วงเงินรวม 5.12 หมื่นล้านบาท ใช้เงินทุนของ ธ.ก.ส. แล้วรัฐบาลจะชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้ 3% ต่อปี ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)
แหล่งข่าว ธ.ก.ส.กล่าวว่า มาตรการ 4 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อชะลอการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง 5 แสนครัวเรือน วงเงินรวม 2.5 หมื่นล้านบาท ให้กู้สูงสุดรายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท ระยะเวลา 1 ธันวาคม 2557-30 กันยายน 2558 ระยะเวลาการชดเชยดอกเบี้ยไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันกู้ 2.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการค้าให้สหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการทำธุรกิจรวบรวมผลผลิตมันสำปะหลัง วงเงินให้สินเชื่อรวม 2.2 พันล้านบาท วงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 20 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2557-31 กรกฎาคม 2558 ระยะเวลาการชดเชยดอกเบี้ยไม่เกิน 4 เดือน นับแต่วันกู้ โครงการที่ 3 คือ โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก (ในระบบน้ำหยด) ให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังจำนวน 1 แสนครัวเรือน วงเงินสินเชื่อรวม 2.3 หมื่นล้านบาท วงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 2.3 แสนบาท ระยะเวลาโครงการตั้งแต่ 1 มกราคม 2558-31 ธันวาคม 2560 รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยไม่เกิน 24 เดือน นับแต่วันกู้ 4.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อยกระดับมาตรฐานการแปรรูปมันสำปะหลังให้สหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการทำธุรกิจรวบรวม แปรรูป และจัดเก็บผลผลิตมันสำปะหลัง วงเงินให้สินเชื่อรวม 1 พันล้านบาท วงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 20 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558-31 ธันวาคม 2560 รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยไม่เกิน 24 เดือน นับแต่วันกู้
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า คณะกรรมการยังเห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกค้าของ ธ.ก.ส.ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ได้แก่ 1.ให้สินเชื่อผ่อนปรน (ซอฟต์โลน) ระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ 1 มกราคม 2558-31 ธันวาคม 2560 คิดอัตราดอกเบี้ย 1.50% ต่อปี และ 2.มาตรการพักชำระหนี้ ชำระหนี้ 3 ปี 3 เดือน ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2557-31 ธันวาคม 2560 นอกจากนี้เห็นชอบให้ ธ.ก.ส.ทำโครงการ "ครอบครัวผูกพันสร้างสรรค์เกษตรกรไทย" โดยรับลูกหลานเข้าเป็นลูกค้าแทนลูกค้าที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีประวัติการชำระหนี้ดีเยี่ยม จำนวน 2 แสนราย วงเงินให้สินเชื่อ 2 หมื่นล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี และออกมาตรการจูงใจให้ลูกค้าและลูกหลานที่เข้าร่วมโครงการ โดยจัดสรรเงินดอกเบี้ยเงินกู้ 10% ของดอกเบี้ยที่ได้รับชำระจากลูกค้า คืนให้ลูกค้า มาใช้สนับสนุนพัฒนาให้ความรู้ในการประกอบอาชีพและสวัสดิการของลูกหลานเกษตรกร ระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี.
ที่มา: มติชน วันที่ 11 ม.ค. 2558