
ประยุทธ์ เดินหน้าดันส่งออก ยกระดับ-เพิ่มมูลค่าสินค้า
ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เดินหน้าดันส่งออก ยกระดับ-เพิ่มมูลค่าสินค้า พร้อมสร้างแบรนด์ไทย รับราคาต้องอิงตลาดโลก พร้อมผลักดันเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายให้ดีที่สุด ขออย่ากังวลภาษีมรดก ลั่นดูแลให้เกิดความเป็นธรรม
วันที่ 16 ก.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจว่า รัฐบาลจะเน้นเรื่องการส่งออก ยกระดับและเพิ่มมูลค่าสินค้าที่จะส่งออก รวมถึงสร้างแบรนด์ไทย และนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับสินค้า ควบคู่ไปกับการดูแลราคาผลผลิตทางการเกษตร ทั้งข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า การกำหนดราคาสินค้าจำเป็นต้องอิงในตลาดโลก ซึ่งมีทั้งเงื่อนไขของ WTO และเรื่องของภาษี ซึ่งหากตั้งราคาสินค้าที่สูงกว่าตลาดโลก บวกกับค่าแรงของประเทศก็ถือว่าสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจจะไม่สามารถส่งออกสินค้าเหล้านั้นได้
นอกจากนี้ปัจจัยในเรื่องเศรษฐกิจโลกยังไม่ดีขึ้น หรือความไม่สงบในบางประเทศส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมทั้งโลกเป็นสิ่งที่ตนเองไม่สามารถเบาใจได้ในการทำงาน
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า จะผลักดันเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายให้ดีที่สุด แต่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งรัฐบาล เอกชน และประชาชน
ส่วนเรื่องภาษีมรดกนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขออย่าได้กังวล เพราะมีคณะกรรมการด้านกฎหมายจะดูแลให้เกิดความเป็นธรรม เพราะจะมีมาตรการยกเว้นให้กับผู้เสียภาษีอยู่แล้ว ซึ่งรัฐบาลต้องการที่จะดูแลเรื่องของภาษีของประชาชนทุกระดับอย่างเท่าเทียมกัน แต่จะเห็นผลในสิ้นปีนี้หรือไม่นั้น ทาง สนช. จะเป็นผู้พิจารณาด้วยความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
สำหรับแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล เป็นการพัฒนาให้มีความทันสมัยในการลงทุน และช่วยเพิ่มความสะดวกในการติดต่อราชการ รวมไปถึงปรับปรุงนำไปใช้ในเรื่องของ one stop sevice
ที่มา : ไทยรัฐออนไลต์ 16 กันยายน 2557
ธ.ก.ส. หนุนสินเชื่อสินค้าเกษตรหลัก 9 ชนิด วงเงิน 3 หมื่นล.
ลักษณ์ วจนานวัช
ธ.ก.ส. หนุนสินเชื่อสินค้าเกษตรหลัก 9 ชนิดในเครือข่ายองค์กรเกษตร หรือสหกรณ์ในชุมชน สร้างมูลค่าเพิ่มการผลิต-ตลาด ตั้งเป้าขยายสินเชื่อส่วนนี้ 3 หมื่นล้านในปี 57...
เมื่อวันที่ 16 ก.ย. นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. จะสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทั้งในด้านการผลิตและด้านการตลาด ในสินค้าเกษตรหลัก 9 ชนิด ประกอบด้วย ข้าว ข้าวโพด ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมัน ลำไย กาแฟ และโคเนื้อ โดยในแต่ละผลผลิตต้องมีสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของผลผลิตรวม ด้วยการสนับสนุนสินเชื่อตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้องค์กรของเกษตรกร เช่น สหกรณ์ หรือ สกต.สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างครบวงจร ภายใต้แนวคิดการสร้างมูลค่าเพิ่มกลับคืนสู่ชุมชน โดยตั้งเป้าหมายขยายสินเชื่อในส่วนนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท ในปี 2557
"แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพรวบรวมผลผลิตหลัก สาขาของ ธ.ก.ส.จะดำเนินการร่วมกับวิสาหกิจชุมชน สกต.และสหกรณ์การเกษตร เพื่อรวบรวม จัดเก็บและแปรรูปให้อยู่ในกระบวนการขององค์กรเกษตรกรทั้งหมด ซึ่ง ธ.ก.ส.จะเป็นผู้สนับสนุนสินเชื่อในกระบวนการผลิตเหล่านั้น รวมทั้งมีการจัดการทางการตลาด ผ่านระบบ E-marketing การสนับสนุนสินค้าที่มีคุณภาพสูง ร่วมกับภาคราชการและพัฒนาสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์การเกษตรให้สามารถทำหน้าที่เป็น Farmer’s market เพื่อสร้างความมั่งคั่งและมั่นคงให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน" นายลักษณ์ กล่าว ทั้งนี้ ธ.ก.ส.ได้จัดประชุมสัมมนา สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) ทั้ง 77 แห่งทั่วประเทศในหัวข้อ "สกต. ร่วมใจปฏิรูปเศรษฐกิจชุมชนสู่ความยั่งยืน" ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางปฏิรูปการดำเนินงาน ของขบวนการ สกต. และกำหนดรูปแบบการจัดหาปัจจัยการผลิตผ่านขบวนการ สกต. การเพิ่มประสิทธิภาพ การรวบรวมผลผลิตของ สกต. ให้เป็นแนวทางเดียวกัน เพื่อให้ สกต.มีความเข้มแข็งสามารถยืนหยัดในการทำหน้าที่ในการให้บริการแก่สมาชิกและชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเชื่อมั่นว่าความร่วมมือในทิศทางดังกล่าวระหว่าง สกต. กับ ธ.ก.ส.จะเป็นการเสริมพลังซึ่งกันและกันในการปฏิรูประบบสหกรณ์เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่สมาชิกและชุมชนอย่าง
ที่มา : ไทยรัฐออนไลต์ 16 กันยายน 2557
คต. จับมือสมาคมฯ เปิดโลกการค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังออนไลน์ (Tapioca E-Market) เสริมกลยุทธ์รุกตลาดมันสำปะหลัง
กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ ร่วมกับมูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย สมาคมที่เกี่ยวข้องกับมันสำปะหลัง จัดงานเปิดโลกการค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังออนไลน์ (Tapioca E-Market) และสรุปผลการสำรวจภาวะการผลิตมันสำปะหลัง ฤดูการผลิตปี 2557/58 ณ โรงแรมพูลแมน พัทยา โฮเต็ล จี จังหวัดชลบุรี ในวันที่ 5 กันยายน 2557
เพื่อเพิ่มช่องทางการติดต่อระหว่างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทยกับผู้ซื้อ/ผู้ใช้ ทั้งในและต่างประเทศผ่านเว็บไซด์ https://tapioca.dft.go.th โดยมีรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นางสาวปานจิตต์ พิศวง เป็นประธาน
รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการค้าต่างประเทศมีความมุ่งมั่นที่จะอำนวยความสะดวกและสนับสนุนการส่งออกให้กับผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทย เพื่อทำให้อนาคตมันสำปะหลังเป็นอุตสาหกรรมที่มั่นคงและสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยอย่างมหาศาล เป็นศูนย์กลาง (HUB) เทคโนโลยีด้านการผลิต การแปรรูป และการค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง มีตลาดที่กว้างและกระจายไปทั่วโลกและเติบโตบนฐานที่มั่นคงแข็งแรง สร้างความอยู่ดีกินดีให้เกษตรกรและผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทั้งนี้ เพื่อให้การส่งออกขยายตัวและสามารถแข่งขันได้ กรมการค้าต่างประเทศ จึงได้จัดทำระบบการค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังออนไลน์ผ่านเว็บไซด์ https://tapioca.dft.go.th ขึ้น ซึ่งเว็บไซด์ดังกล่าว ถือเป็นคลังข้อมูลการผลิตและการค้ามันสำปะหลังของไทยและเป็นช่องทางการติดต่อระหว่างผู้ประกอบการมันสำปะหลังของไทยกับผู้ซื้อผู้ใช้ทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากสื่อออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญยิ่งต่อระบบการค้าในยุคปัจจุบัน
รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า สำหรับปี 2557 (ม.ค.-ก.ค.) ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ไปแล้ว ปริมาณ 6.45 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 64,674 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และ 22 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกเป็นจำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมกระดาษ และอุตสาหกรรมการหมัก (ผงชูรส กรดไลซีน) และนอกจากเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่ ความต้องการมันสำปะหลังเพื่อผลิตพลังงาน และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น ไบโอพลาสติก ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงนับได้ว่าอุตสาหกรรมมันสำปะหลังมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย
ที่มา : กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
พาณิชย์-เกษตรชงวาระด่วน!ใส่มือ2รมต.ใหม่
2 กระทรวงเศรษฐกิจ เตรียมชงวาระเร่งด่วนต่อ 2 รัฐมนตรีว่าการคนใหม่ ก.พาณิชย์ส่งการบ้านเพียบทั้งดูแลค่าครองชีพ ขอความร่วมมือเอกชนตรึงราคาสินค้าถึง ก.พ.58 ดันส่งออก แก้ไขกฎหมายประกอบธุรกิจคนต่างด้าว เร่งระบายข้าวฤดูกาลใหม่ ขยายค้าชายแดนรับ 5 เขตเศรษฐกิจพิเศษ ขณะก.เกษตรฯไม่น้อยหน้า ฝากแผนดูแลราคาสินค้าเกษตร เยียวยาอุทกภัย-รับมือภัยแล้ง เร่งโซนนิ่ง
altจากที่2 รัฐมนตรีใหม่ประกอบด้วย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเข้าทำงานที่กระทรวงที่รับผิดชอบอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 กันยายน 2557 นั้น นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ได้เตรียมข้อมูลการทำงานเพื่อรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในภารกิจหลักของแต่ละกรมในสังกัดที่ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการดูแลค่าครองชีพของประชาชน รวมทั้งการค้าระหว่างประเทศ และแนวทางผลักดันการส่งออก อย่างไรก็ดีจากการตรวจสอบของผู้สื่อข่าวพบว่า ในส่วนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เตรียมเสนอปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 แผนการดูแลเอสเอ็มอี กรมการค้าภายในเสนอต่อมาตรการตรึงราคาสินค้าลดค่าครองชีพต่อไปอีก 3 เดือนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2558 (จากเดิมการขอความร่วมมือเอกชนจะสิ้นสุด พ.ย.57) ส่วนกรมการค้าต่างประเทศเสนอแผนบริหารจัดการข้าว กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เสนอแผนผลักดันการส่งออกในโค้งสุดท้ายของปีนี้ เป็นต้น
สอดคล้องกับนางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ที่กล่าวว่า แผนบริหารจัดการข้าวในสต๊อกรัฐบาลที่จะเสนอในครั้งนี้จะเน้นการระบายข้าวในฤดูกาลใหม่ที่จะออกมาในช่วงปลายกันยายน-ตุลาคมนี้ก่อนเพื่อไม่ให้ข้าวเปลือกราคาตก ส่วนข้าวเก่าในสต๊อกจะระบายออกมาในจังหวะที่เหมาะสมไม่เร่งระบายเหมือนครั้งก่อนๆ ทั้งนี้เพื่อให้การระบายได้ราคาที่ดีไม่ถกกดราคาจากผู้ประกอบการ
นอกจากนี้จะเสนอยุทธศาสตร์การค้าชายแดนให้สอดคล้องกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญและมีเป้าหมายให้เกิดการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 5 แห่ง(แม่สอด จ.ตาก ,อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ,คลองใหญ่ จ.ตราด, มุกดาหาร และด่านสะเดา จ.สงขลา) ที่ต้องการเห็นเป็นรูปธรรมในปี2558 ซึ่งหากตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษได้จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านได้อีกมาก
ด้านนายชนุตร์ปกรณ์ วงศ์สีนิล ผู้อำนวยการ องค์การคลังสินค้า(อคส.)เผยว่า เรื่องเร่งด่วนที่จะนำเสนอคือ ต้องการให้เร่งระบายข้าวที่มีอยู่ในสต๊อกทั้งหมดเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายประจำที่เกิดขึ้นจากค่าเก็บรักษาสภาพข้าว
ขณะที่งานเร่งด่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่จะนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯคนใหม่ นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า เบื้องต้นมี 3 เรื่องสำคัญคือ 1.การแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยสินค้าหลักได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด ที่ต้องเร่งมีมาตรการดูแลที่เป็นรูปธรรม 2.ปัญหาอุทกภัยที่เวลานี้ได้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ซึ่งต้องเร่งรัดการฟื้นฟูเยียวยา และต้องผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี รวมถึงต้องวางแผนรับมือกับภัยแล้งในปีถัดไป และ 3.เรื่องโซนนิ่งภาคเกษตร
"ในยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรแต่ละตัวข้างต้นที่มีปัญหาราคาตกต่ำเรามียุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า ระยะสั้น กลาง และยาวแล้ว อยู่ที่ฝ่ายนโยบายเขามาเคาะว่าจะเอาด้วยหรือไม่ ส่วนเรื่องน้ำต้องเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในเรื่องการฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย แต่ที่เป็นประเด็นจริงๆ คือการวางแผนในฤดูแล้งถัดไป เพราะน้ำในเขื่อนใหญ่เวลานี้เฉลี่ยเหลือน้ำใช้การได้อยู่กว่า 20%เท่านั้น"
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 14 - 17 กันยายน 2557
“สมศักดิ์ ป้องปัญจมิตร” เกษตรกรดีเด่น ต้นแบบปลูกมันน้ำหยด.
สมศักดิ์ ป้องปัญจมิตร
นายสมศักดิ์ ป้องปัญจมิตร อายุ 42 ปี เกษตรกรบ้านสมบัติเจริญ ตําบลกุดโบสถ์ อําเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา เป็นเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตมันสําปะหลังในระบบน้ำหยด จนประสพผลสําเร็จได้รับการคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่นระดับอําเภอ ระดับจังหวัด ระดับเขต และระดับประเทศประจําปี 2556 จนได้รับการคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาอาชีพทําไร่
โดยนายสมศักดิ์ได้เริ่มต้นประกอบอาชีพเกษตรกรรม จากที่บิดามารดาได้มอบที่ดินทํากินให้พื้นที่ 23 ไร่ แบ่งปลูกต้นไม้สักทองจํานวน 2 ไร่เศษ เพื่อสร้างบ้านเรือน ส่วนพื้นที่ที่เหลือได้ปลูกมันสําปะหลัง ปลูกอ้อยโรงงาน มะม่วง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่เจอปัญหาอุปสรรค ราคาผลผลิตตกต่ำ ปัจจัยการผลิตราคาสูง ภัยแล้ง และโรคแมลงรบกวน จึงประสบภาวะขาดทุนเรื่อยมา
จนกระทั่งปี 2535 นายสมศักดิ์ได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่เดิมเป็นที่เพาะปลูกมันสําปะหลังแทน แต่การปลูกแบบเดิมตามฤดูกาลที่ต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ทําให้ผลผลิตที่ได้ไม่เป็นไปตามต้องการ
ต่อมาได้รับการแนะนําจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรสํานักงานเกษตรอําเภอเสิงสาง และนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรของสํานักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา ที่เห็นว่าพื้นที่ของนายสมศักดิ์สามารถขุดบ่อน้ำจากใต้ดินได้ จึงให้ทดลองใช้ระบบน้ำแบบสปริงเกอร์และแบบน้ำหยด ในแปลงมันสําปะหลังพันธุ์ห้วยบง 60 ซึ่งได้ผลผลิตมากถึง 9 ตันต่อไร่ จากเดิม 4-5 ตันต่อไร่ จึงถือว่าเป็นต้นแบบเกษตรกรผู้ปลูกมันสําปะหลังระบบน้ำหยด
เมื่อมีกําไรมากขึ้นจึงซื้อที่ดินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบันมีพื้นที่ทั้งหมด 80 ไร่ มีการจัดการระบบน้ำหยด สามารถปลูกมันสําปะหลังได้ตลอดทั้งปี ไม่ต้องรอน้ำฝนและเสี่ยงกับภัยแล้ง ช่วยลดต้นทุนการผลิต จากเดิมปลูกปีละ 1-2 ครั้ง จึงจะได้เก็บเกี่ยวผลผลิต ระบบน้ำหยดลงทุนวัสดุอุปกรณ์ โดยใช้งบประมาณ 7 พันบาทต่อไร่ เมื่อเปรียบเทียบต้นทุน ระหว่างการปลูกแบบทั่วไปกับปลูกแบบระบบน้ำหยด
การลงทุนต่อไร่ผลสรุปออกมาคือปลูกทั่วไป 6,620 บาท แต่ปลูกระบบน้ำหยดลงทุน 9,935 บาท ผลผลิตที่ได้ปลูกทั่วไป 5 พันกิโลกรัม ปลูกระบบน้ำหยดได้ผลผลิต 1 หมื่นกิโลกรัม ขายราคา 2.30 บาท/กก. ปลูกทั่วไปขายได้เงิน 11,500 บาท ปลูกระบบน้ำหยดขายได้เงิน 23,000 บาท และผลกําไรต่อไร่ ปลูกทั่วไปได้กําไร 4,880 บาท ปลูกระบบน้ำหยดได้กําไร 13,000 บาท แม้ว่าการลงทุนจะสูง ดังนั้นวิธีการปลูกแบบจัดระบบหมุนเวียนให้สามารถเก็บผลผลิตได้ทุกเดือน จึงมีรายได้ตลอดทั้งปี
นายสมศักดิ์และครอบครัวได้น้อมนําหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจําวัน หลังจากประสพผลสําเร็จในการปลูกมันสําปะหลังในระบบน้ำหยด และมีความมั่นคงในอาชีพแล้ว ได้เปิดไร่เป็นแหล่งเรียนรู้ โดยเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์เกี่ยวกับปัญหา และความสําเร็จของการใช้เทคโนโลยีระบบน้ำหยดในไร่มันสําปะหลังให้แก่ภาครัฐ เอกชน เกษตรกร นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ยังเป็นที่ปรึกษาของเกษตรกรผู้ปลูกมันสําปะหลังน้ำหยดในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียง 110 ราย พื้นที่กว่า 1,530 ไร่
นายเฉลิมศักดิ์ ประสิทธิ์สุวรรณ เกษตรจังหวัดนครราชสีมา กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดเด่นของนายสมศักดิ์
ซึ่งมีความขยัน หมั่นเพียร ใฝ่หา และรับความรู้ตลอดเวลา รวมทั้งมีการประยุกต์และประดิษฐ์คิดค้นเครื่องจักรเครื่องมือในการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตมาใช้กับแปลงตนเองให้เกิดความเหมาะสม และยังสามารถถ่ายทอดสู่ผู้อื่นได้ จึงเป็นเกษตรกรผู้นําตัวอย่างที่มีแนวคิด วิธีปฏิบัติก้าวหน้า พัฒนาอาชีพเกษตรกรรม พัฒนาชุมชนให้เจริญ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ดี และได้รับการคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจําปี 2556 สาขาอาชีพทําไร่ โดยจะได้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัล ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 11 กันยายน2557