Company Logo





พยากรณ์อากาศ

อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ดักคอกู้โปะจำนำข้าว ชี้"รบ.-กกต."ตีมึนมีลุ้นโทษอาญา


ชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา

        "ชูชาติ ศรีแสง" ดักคอ รบ. วอนอ่านรธน.มาตรา 181 ก่อนขอ กกต. อนุมัติกู้ 2.8 แสนล้านบาทกู้หน้าจำนำข้าว ยันไม่เข้ากรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นตาม 181 (2) กกต.จึงไม่มีอำนาจอนุมัติ เตือนดึงดันได้สิทธิ์ลุ้นอาญามาตรา 157 ทั้ง รบ. และ กกต.

        ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Chuchart Srisaeng ถึงกรณีรัฐบาลรักษาการจะขออนุมัติจากคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. ในการกู้เงิน 280,000 ล้านบาทเพื่อเอาไปซื้อข้าวจากชาวนาตามโครงการรับจำนำข้าว ว่า ถ้าเป็นความจริงก็เป็นการใช้เงิน 280,000 ล้านบาท เพื่อซื้อเสียงจากชาวนาทั่วประเทศ

        ใคร่ขอให้รัฐบาลและคณะกรรมการการเลือกตั้ง อ่านรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ก่อนที่จะดำเนินการดังกล่าว

        รัฐธรรมนูญ มาตรา 181 บัญญัติว่า คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตําแหน่ง ต้องอยู่ในตําแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ แต่ในกรณีพ้นจากตําแหน่งตามมาตรา 180 (2) คืออายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จําเป็น ภายใต้เงื่อนไขที่กําหนด ดังต่อไปนี้

(1)  ฯลฯ
(2) ไม่กระทําการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
(3)  ไม่กระทําการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป
(4)  ฯลฯ

        การขอกู้เงินไม่ใช่เป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จึงไม่ใช่กรณีที่จะขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามมาตรา 181(2)

        แต่เป็นกรณีการกระทำอันมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป ตามมาตรา 181(3) จึงเป็นกรณีที่รัฐบาลไม่สามารถกระทำได้ และคณะกรรมการการเลือกตั้งก็ไม่มีอำนาจที่ให้อนุมัติให้กระทำได้

        ถ้ารัฐบาลขออนุมัติขอกู้เงิน 280,000 บาท ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง แล้วคณะกรรมการการเลือกตั้งอนุมัติให้รัฐบาลกู้เงิน และรัฐบาลไปกู้เงินจำนวนเงินดังกล่าว ทั้งรัฐบาลและคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก็มีโอกาสที่จะถูกดำเนินคดีฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้

ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์ 26 ธันวาคม 2556 

มันสำปะหลังในดินดาน อีกต้นตอความยากจน

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ 13 ธันวาคม 2556

“นิวัฒน์ธำรง” ห่วงยุบสภาขายข้าวสะดุด พร้อมขอ กกต.อนุมัติแทรกแซงมันสำปะหลัง

 “นิวัฒน์ธำรง” หวั่นยุบสภาทำระบายข้าวในสต๊อกรัฐสะดุด เตรียมถามฝ่ายกฎหมายยังมีอำนาจเซ็นอนุมัติขายข้าวได้หรือไม่ ส่วนการแทรกแซงมันสำปะหลัง ขอ กกต.อนุมัติให้ดำเนินการ


       
       นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) วานนี้ (11 ธ.ค.) ว่า จะสอบถามฝ่ายกฎหมายเกี่ยวกับการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาล ทั้งในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) และการเปิดประมูลเป็นการทั่วไปว่าในฐานะรักษาการ รมว.พาณิชย์ จะสามารถลงนามอนุมัติขายได้หรือไม่ หลังจากที่รัฐบาลได้ยุบสภา เพราะในทางปฏิบัติแม้กรมการค้าต่างประเทศจะเป็นผู้ดำเนินการระบายข้าว แต่ขั้นตอนสุดท้ายต้องเสนอให้ รมว.พาณิชย์อนุมัติ เพื่อให้เกิดความชัดเจนก่อนที่จะดำเนินการใดๆ
       
       “การระบายข้าว หากเป็นการระบายข้าวตามกรอบเดิมที่ได้มีการดำเนินการมาต่อเนื่องก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ถ้าเป็นกรอบใหม่ก็อยากถามฝ่ายกฎหมายก่อนว่าผมอนุมัติได้หรือไม่ แต่ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ดำเนินการมาต่อเนื่อง มีการกำหนดกรอบการระบายไว้แล้ว น่าจะดำเนินการได้ เพราะไม่ใช่เรื่องใหม่”
       
       สำหรับการระบายข้าวในสต๊อกในสมัยที่ตนเข้ามารับตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ มีการระบายได้เกือบ 3 ล้านตัน แบ่งเป็นการขายจีทูจีให้จีนประมาณ 2 ล้านตัน ขายให้อิหร่าน 2.5 แสนตัน และขายผ่านการประมูลทั่วไปอีก 6-8 แสนตัน ล่าสุดสามารถส่งเงินคืนกระทรวงการคลังได้แล้วประมาณ 1.8 แสนล้านบาท เชื่อว่าจนถึงสิ้นปีจะสามารถคืนเงินได้ตามแผน และยังมีการเจรจาขายข้าวให้อินโดนีเซียทั้งแบบจีทูจี และไม่ใช่จีทูจี โดยยืนยันได้ว่าการระบายข้าวมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มามือเปล่าก็กลับไปมือเปล่า
       
       นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวว่า สำหรับโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ปี 2556/57 ที่กระทรวงพาณิชย์เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าจะช่วยเหลือด้วยการจ่ายเงินชดเชยหรือรับจำนำมันสำปะหลัง ต้องเลื่อนออกไปก่อนเพราะมีการยุบสภา และกระทรวงพาณิชย์จะนำเรื่องเสนอสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขออนุมัติดำเนินการ เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่เกษตรกรร้องขอความช่วยเหลือเข้ามา
       
       ด้านนายยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า การที่ ธ.ก.ส.จ่ายเงินให้เกษตรกรล่าช้าไม่ใช่เพราะรัฐบาลไม่มีเงิน แต่เพราะต้องการรักษาวินัยทางการเงินการคลังไม่ให้เกินกรอบที่ ครม.อนุมัติไว้ 2.7 แสนล้านบาท ประกอบกับสำนักงบประมาณถูกยึด แต่ กขช.ได้กำหนดกรอบให้ ธ.ก.ส.เร่งจ่ายเงินให้เกษตรกรภายใน 2 สัปดาห์นี้ หรือก่อนปีใหม่ โดยให้เร่งจ่ายเงินให้เกษตรกรที่นำข้าวมาเข้าโครงการรับจำนำก่อน หรือในจังหวัดที่มีเกษตรกรจำนวนมาก และเดือดร้อน เช่น เชียงราย พะเยา พิษณุโลก อยุธยา อ่างทอง ฉะเชิงเทรา อุบลราชธานี ขอนแก่น ศรีสะเกษ เป็นต้น
       
       ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าเกษตรกรไม่พอใจรัฐบาลที่จ่ายเงินช้าและจะปิดถนนประท้วง จากการสอบถามผู้นำเกษตรกรพบว่า เกษตรกรไม่ได้ต้องการทำเช่นนั้น และไม่ต้องการเข้าร่วมกับกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาล แต่ที่อาจจะต้องทำเพราะต้องการให้รัฐบาลทราบว่าเดือดร้อนมาก หากรัฐบาลเร่งจ่ายเงินให้ก็จะไม่ปิดถนนประท้วงแน่นอน

ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์11 ธันวาคม 2556

เมืองน้ำดำติวเข้มเกษตรกร เพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง

กาฬสินธุ์ - จังหวัดอบรมหลักสูตรการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังให้แก่เกษตรกรกว่า 400 ราย หวังผลผลิตเพิ่มจาก 4 ตันต่อไร่ เป็น 10 ตัน

วันนี้ (11 ธ.ค.) ที่ศูนย์เรียนรู้ บ้านนามหาโชค ต.ยางตลาด อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายสุวิทย์ สุบงกฎ ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานโครงการอบรมหลักสูตรการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลัง ตามโครงการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันสู่โรงงานอุตสาหกรรม โดยมีตัวแทนโรงงานอุตสาหกรรมเป็นวิทยากรพิเศษเกษตรกรจาก ต.คำเหมือดแก้ว ต.กุดโดน และ ต.ห้วยเม็ก อ.ห้วยเม็ก 400 คนร่วมโครงการ

ทั้งนี้ การจัดอบรมตามโครงการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันผลิตมันสำปะหลังสู่โรงงานอุตสาหกรรมจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น มีความรู้ความเข้าใจในการจัดการ และบริหารความเสี่ยงจากปัญหาโรคแมลงและศัตรูพืช มีความรู้เกี่ยวกับการฟื้นฟูปรับปรุงบำรุงดินโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ สามารถเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังให้สูงขึ้น จากเดิม 4 ตันต่อไร่เป็น 10 ตันต่อไร่ เป็นต้น

โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนท่อนพันธุ์มันสำปะหลังพันธุ์ดีคนละ 500 ลำต่อไร่ ปุ๋ยอินทรีย์ปรับปรุงดินคนละ 1,400 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งนี้ การอบรมนอกจากจะดำเนินการใน อ.ห้วยเม็ก 2,000 ไร่แล้ว ยังจะดำเนินงานใน อ.หนองกุงศรี 2,000 ไร่ และ อ.ท่าคันโท 1,000 ไร่

ทั้งนี้ การจัดอบรมดังกล่าวยังได้จัดนิทรรศการมันสำปะหลัง ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูก จนเข้าสู่กระบวนการแปรรูปในโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะชี้ให้เห็นว่าทุกชิ้นส่วนของมันสำปะหลัง ทั้งหัว กาก เหง้า ลำต้น ใบ สามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบต่างๆ ได้

ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์  วันที่ 11 ธันวาคม 2556

เศรษฐกิจการเกษตร คาด ปี 57 ขยายตัวต่อเนื่อง

 

 

 

 

นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจการ เกษตรในปี 2557 สศก. คาดว่า จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.0–4.0 โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการผลิตในสาขาพืช ปศุสัตว์ รวมถึงสาขาประมงที่คาดว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงกลางปี  2557 และสามารถขยายตัวเป็นบวกได้ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ในปี 2557 ยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่จะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการผลิตภาคเกษตร เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน รวมถึงภัยธรรมชาติและโรคระบาดต่าง ๆ ซึ่งจำเป็นต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์ โดย สาขาพืช คาดว่าในปี 2557 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 3.2–4.2 เมื่อเทียบกับปี 2556 โดยผลผลิตพืชที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน ยาง พารา และปาล์มน้ำมัน ส่วนผลผลิตพืชที่มีแนวโน้มลดลง ได้แก่ ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง สับปะรด และผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด และเงาะ อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงเกี่ยวกับปริมาณน้ำที่ใช้การได้ในเขื่อนขนาดใหญ่ เช่น ภูมิพล และสิริกิติ์ ซึ่งมีความสำคัญต่อการเพาะปลูกพืช รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและการระบาดของศัตรูพืชต่าง ๆ ด้านราคาพืชที่เกษตรกรขายได้ส่วนใหญ่ในปี 2557 คาดว่าจะใกล้เคียงกับปี 2556 สำหรับการส่งออกสินค้าพืชและผลิตภัณฑ์ มีแนวโน้มดีขึ้นตามทิศทางของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศคู่ค้าซึ่งมีสัญญาณของการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

            

สาขาปศุสัตว์ คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0–3.0 โดยปริมาณการผลิตไก่เนื้อ ไข่ไก่ สุกร และโคนม มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากการพัฒนาระบบการเลี้ยงและการบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐานมากขึ้น มีกระบวนการควบคุมและเฝ้าระวังโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีการขยายการเลี้ยงเพื่อรองรับความต้องการบริโภคของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการเฝ้าระวังโรคระบาดต่าง ๆ รวมทั้งความเสี่ยงจากปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน ภัยธรรมชาติ และต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง ที่อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตปศุสัตว์

            

สาขาประมง มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2556 อยู่ในช่วงร้อยละ 2.2–3.2 เนื่องจากการผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นจากปัญหาการระบาดของโรค EMS ซึ่งกรมประมงร่วมกับภาคเอกชนได้ดำเนินมาตรการในการแก้ไขปัญหา อาทิ การดูแลทำความสะอาดบ่อเลี้ยงการ  Clean up โรงเพาะฟักลูกกุ้ง ขณะเดียวกันได้มีการควบคุมดูแลการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์กุ้งทะเลจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นแหล่งที่ผ่านการตรวจสอบจากกรมประมงแล้วว่าปลอดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรค นอกจากนี้ กรมประมงร่วม   กับผู้นำเข้าพ่อแม่พันธุ์กุ้งทะเลได้ดำเนินการหาแหล่งนำเข้าพ่อแม่พันธุ์อื่น ๆ ที่มีคุณภาพเพิ่มเติม 

 

สาขาบริการทางการเกษตร คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 0.8–1.8 เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังในปี 2557 มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับปี 2556 จากสถานการณ์น้ำในเขื่อนที่อาจมี ไม่เพียงพอต่อการปลูกข้าวนาปรังรอบสอง อย่างไรก็ตาม พื้นที่เพาะปลูกพืชที่สำคัญชนิดอื่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น ข้าวนาปี และอ้อยโรงงาน นอกจากนี้ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านการเกษตร ทำให้อัตราค่าจ้างแรงงานภาคเกษตรค่อนข้างสูง ส่งผลให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนมาใช้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรเพิ่มขึ้น และ สาขาป่าไม้ คาดว่ายังคงขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.0–4.0 เนื่องจากเป้าหมายการตัดโค่นต้นยางพาราเก่าและปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประมาณ  300,000 ไร่ ประกอบกับจำนวนพื้นที่เป้าหมายการตัดไม้ยูคาลิปตัสที่อายุครบตัดของภาคเอกชน ทั้งจากสวนป่าสมาชิกและหัวไร่ปลายนามีจำนวนเพิ่มขึ้น.

ที่มา : เดลินิวส์ วันพุธ 4 ธันวาคม 2556






Powered by Allweb Technology.