
สรุปผลการศึกษาพิกัดน้ำหนักรถบรรทุก และการดำเนินการตามประกาศผู้อำนวยการทางหลวงพิเศษฯ (17 ก.พ.57)
กรมการขนส่งทางบก สำนักวิศวกรรมยานยนต์
ที่ คค 0418.3/ว.016 วันที่ 23 มกราคม 2557
โครงการจัดทำฐานข้อมูลกลุ่มอุตสาหกรรมมันสำปะหลังของประเทศไทย
เนื่องด้วย ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สวทช.ได้ดำเนินโครงการจัดทำฐานข้อมูลมันสำปะหลังของประเทศไทย โดยการเก็บข้อมูลบัญชีรายการวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Inventory : LCI) ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะต้องครอบคลุม 60% ของกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นๆ
ทั้งนี้ คณะผู้ดำเนินงาน ได้ประสานมายัง สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อช่วยกระจายข้อมูลโครงการและแบบตอบรับแก่บริษัทที่เป็นสมาชิกสมาคมฯ
สิ่งที่ทางบริษัทฯ จะได้รับจากโครงการ(โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ) คือ
1.บัญชีรายการวัฏจักรชีวิตของทางบริษัท
2.ทางบริษัทสามารถนำข้อมูลที่ได้จากโครงการไปใช้ในการประเมินผลกระทบด้านต่างๆ ต้นทุนการผลิต หรือแม้กระทั้งสามารถนำไปวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตภายในองค์กรได้
ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลของประเทศไทย โดยที่นำข้อมูลที่ได้ไปเฉลี่ย จะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลการผลิตของบริษัทแก่บุคคลทั่วไป
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
เภคูน พูลสวัสดิ์
ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านพลังงานเชิงนิเวศเศรษฐกิจ
Excellence Center of Eco-Energy (ECEE)
คณะวิศวกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง
จังหวัดปทุมธานี 12120
Tel: 0849324700
ชี้กัมพูชาเร่งขยายพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง
สศก.เผยแนวโน้มกัมพูชาขยายพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังต่อเนื่อง หลังได้เปรียบในด้านต้นทุนและค่าจ้างแรงงานถูก เตรียมรุกฐานการส่งออกไปยังตลาดจีน
อนันต์ ลิลา
นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการศึกษาศักยภาพสินค้าเกษตรเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกรณีศึกษา : มันสำปะหลังในราชอาณาจักรกัมพูชาว่า กัมพูชานับเป็นประเทศผู้ผลิตมันสำปะหลังอันดับที่ 13 ของโลกและผลิตมากเป็นอันดับที่ 4 ในอาเซียน รองมาจาก อินโดนีเซีย ไทย และเวียดนาม โดยจากข้อมูลองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พบว่า มันสำปะหลังเป็นสินค้าเกษตรที่กัมพูชาผลิตมากเป็นอันดับที่ 2 รองมาจาก ข้าว ซึ่งกัมพูชาได้ขยายพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการส่งเสริมและพัฒนาการปลูก การปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น โดยมีความได้เปรียบในด้านต้นทุนการผลิตมันสำปะหลังที่ต่ำ เนื่องจากสภาพดินมีความอุดมสมบูรณ์ และเกษตรกรยังเพาะปลูกโดยอาศัยธรรมชาติเป็นหลัก มีการใช้แรงงานคนมากกว่าใช้เครื่องจักรกล ประกอบกับค่าจ้างแรงงานถูก
สำหรับการผลิตมันสำปะหลังของกัมพูชา มีทั้งการผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศ และการส่งออก ผลผลิตส่วนใหญ่แปรรูปเป็นมันเส้น และแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งมันเส้นส่วนใหญ่จะส่งออกมาประเทศไทย ส่วนแป้งมันสำปะหลังจะส่งออกไปยังประเทศเวียดนาม จึงถือได้ว่าประเทศไทยและประเทศเวียดนามเป็นช่องทางสำคัญในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของกัมพูชา นอกจากนี้ ประเทศกัมพูชายังมีการส่งออกหัวมันสดไปยังประเทศเวียดนาม สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแป้งมันสำปะหลังอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ศักยภาพการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในตลาดโลก พบว่า ทั้งไทยและกัมพูชามีความได้เปรียบ เมื่อเปรียบเทียบในการส่งออกมันเส้นและแป้งมันสำปะหลังไปยังตลาดโลก โดยการวิเคราะห์ตำแหน่งและความสามารถในการแข่งขัน (BCG) โดยการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยนั้น อยู่ในตำแหน่งกลุ่มสินค้าทำเงิน (Cash Cows) และกัมพูชาอยู่ในตำแหน่งกลุ่มสินค้าที่มีปัญหา (Question Marks) และจากการศึกษา ยังพบว่า หน่วยงานภาครัฐและเอกชนของกัมพูชา อยากให้นักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมมันสำปะหลังในประเทศกัมพูชา เพื่อเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมมันสำปะหลังร่วมกัน
นอกจากนี้ กัมพูชายังมีแผนที่จะขยายการส่งออกมันสำปะหลังไปยังประเทศจีนโดยตรงผ่านท่าเรือที่เมืองสีหนุวิลล์ ซึ่งผู้นำเข้าจีนได้เริ่มเจรจากับผู้ประกอบการกัมพูชาแล้ว เพื่อดำเนินการปรับปรุงโลจิสติกส์ในบริเวณดังกล่าวให้สามารถดำเนินการได้โดยเร็ว ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทยการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ควรมีมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลัง เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่และลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรแปรรูปมันสำปะหลังเพื่อเพิ่มมูลค่า มีความหลากหลายในผลิตภัณฑ์ ตลอดจนมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาดสนับสนุนผู้ประกอบการขยายฐานการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่มีทรัพยากรและแรงงานถูกเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในการส่งออกสินค้าไปนอกอาเซียน
http://breakingnews.nationchannel.com/home/read.php?newsid=714098
สถานการณ์ภัยแล้ง เริ่มสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภัยแล้งขณะนี้ ในเขตพื้นที่ บ้านห้วยยางคำ ต.กุดจับ อ.กุดจับ ที่กำลังเริ่มเกิดสถานการณ์ระบาดของตัวไรแดง ที่ลงกันกินไร่มันสำปะหลังในพื้นที่ ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังกำลังได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากไรแดง ได้กัดกินยอดอ่อนและใบอ่อนของต้นมันสำปะหลังเสียหาย
นางทองเพียร ชัยบุรมย์ อายุ 65 ปี เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ในเขต ต.กุดจับ อ.กุดจับ เปิดเผยว่า ตนปลูกมันสำปะหลัง พื้นที่กว่า 30 ไร่ เป็นมันสำปะหลังพันธุ์เกล็ดมังกร ที่ซื้อท่อนพันธุ์มาจาก จ.เลย ท่อนละ 80 บาท และปลูกมาได้นานกว่า 6-7 เดือน ที่ผ่านมาหลังหมดหนาวมีฝนตกลงมาเพียงครั้งเดียว ทำให้มันสำปะหลังไม่ได้เจอน้ำที่นานกว่า 1 เดือน จนกระทั่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนสังเกตเห็นว่า ยอดของต้นมันสำปะหลังที่ตนปลูกไว้เหี่ยวแห้งและใบหงิกงออย่างรวดเร็ว และเริ่มลุกลามไปเรื่อย ถึงขณะนี้เสียหายไปกว่า 4 ไร่แล้ว
ฉันจึงติดต่อไปทางเกษตรอำเภอกุดจับให้เข้ามาดู เพราะว่าไร่มันสำปะหลังของเพื่อนบ้านเริ่มมีอาการเหมือนของเรา เช้าวันนี้เจ้าหน้าที่เกษตรจึงเดินทางมาดู เขาบอกว่ามันสำปะหลังถูกไรแดงมันสำปะหลังกัดกินยอด ซึ่งไรแดงมันจะเกิดการระบาดในสภาพอากาศแห้งแล้ง ทางเจ้าหน้าที่จึงแนะนำให้ซื้อสารเคมีมาผสมน้ำฉีดกำจัดไรแดง โดยฉีดที่ยอดมันที่เริ่มเหี่ยวและใบหงิกงอ เพื่อเป็นการฆ่าและป้องกันไม่ให้ไรแดงระบาดไปยังที่อื่นอีก?
นางทองเพียร กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาไม่เคยเจอไรแดงระบาด มีก็แต่เพลี้ยแป้ง ซึ่งเราเคยเจอมาก่อน ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ แต่เมื่อมาเจอไรแดงระบาด ทำอะไรไม่ถูก จึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอเข้ามาดู ซึ่งไม่รู้ว่ามันสำปะหลังตนจะเสียหายอีกเท่าไหร่ เพราะกว่าจะได้เก็บเกี่ยวก็อีกนานกว่า 5 เดือน
นายเสน่ห์ รัตนาภรณ์ เกษตร จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานการระบาดของตัวไรแดงมันสำปะหลัง แต่เบื้องต้นตัวไรแดงมันสำปะหลัง จะระบาดในช่วงที่แห้งแล้ง โดยตัวไรแดงจะดูดกินน้ำเลี้ยงใต้ใบจากส่วนล่างขึ้นมา แต่ยังสามารถที่จะใช้ด้วงเต่าและด้วงปีกสั้นเป็นศัตรูธรรมชาติของไรแดงกำจัด และการใช้สารเคมีประเภทอามีทราช และ ไดโคโฟล ผสมน้ำในอัตราส่วน 40-50 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดที่บริเวณไร่มันสำปะหลังที่กำลังระบาด เมื่อไรแดงตาย สามารถที่จะฟื้นต้นมันสำปะหลังให้เจริญเติบโตจนถึงช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ไม่เหมือนเพลี้ยแป้งสีชมพูที่ระบาดดูดกินท่อน้ำเลี้ยงที่ลำต้นมันสำปะหลังแล้ว จะไม่สามารถฟื้นต้นมันสำปะหลังขึ้นมาได้
ที่มา : เนชั่นทันข่าว
ป.ป.ช.ชงยกเลิกรับจำนำมันสำปะหลัง
ชี้เอื้อเอกชนมีปมทุจริตทำชาติเสียหาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ส่งหนังสือ เรื่องมาตรการป้องกันการทุจริตในการดำเนินโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลังให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ โดย ป.ป.ช.ส่งเรื่องมาตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค.57 แต่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี บรรจุเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ให้รับทราบเมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมาและไม่ได้แถลงข่าวแต่อย่างใด
สำหรับหนังสือของ ป.ป.ช.ระบุว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนการดำเนินโครงการแทรกแซงราคามันสำปะหลังปีการผลิต 2554/2555 และปีการผลิต 2555/2556 ว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการและมีการรับจำนำในราคาต่ำกว่าราคารับซื้อของผู้ประกอบการ ประกอบกับ ป.ป.ช.ได้มอบให้มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยศึกษาวิจัยเรื่อง มาตรการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลังเพื่อป้องกันการทุจริต ซึ่งจากการศึกษาพบว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาการดำเนินการยังไม่มีประสิทธิภาพ เกิดปัญหาการทุจริต เป็นการสูญเสียงบประมาณเป็นจำนวนมาก ดังนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาแล้วจึงเห็นสมควรเสนอมาตรการป้องกันการทุจริตในการดำเนินโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลังต่อ ครม.เพื่อพิจารณาและมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ ป.ป.ช.มีข้อเสนอแนะให้ยกเลิกโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ซึ่งสร้างผลตอบแทนให้แก่เกษตรกรในวงจำกัด แต่สร้างผลกำไรให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจำนวนมาก หากรัฐต้องการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างทั่วถึงพร้อมกับพึ่งพิงวิธีที่ไม่ฝืนกลไกตลาดในระยะยาว จะต้องนำการประกันความเสี่ยงด้านราคามาใช้ เป็นการประกันราคาขั้นต่ำให้เกษตรกร โดยราคาขั้นต่ำไม่ควรตั้งสูงจนเกินไป แต่ต้องสูงกว่าต้นทุนการผลิตโดยเฉลี่ยของเกษตรกรเพื่อให้เกษตรกรสามารถอยู่ได้.
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์