
หนุนเจรจาลาวปลุกค้าชายแดน เพิ่มเพดานสินค้านำเข้าจากไทย

แหล่งข่าวจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทย นำโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 23-25 พ.ค. 2560 นอกจากจะมีการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือทางด้านการค้า การลงทุนระหว่าง 2 ประเทศแล้ว สภาหอการค้าฯได้เสนอให้มีการเจรจาเพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าชายแดน การส่งเสริมการท่องเที่ยวรวมทั้งหาทางแก้ปัญหาอุปสรรคด้านการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับ สปป.ลาวเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนระหว่างกันเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวเป็นการสานต่อความร่วมมือของทั้ง2 ประเทศ หลังก่อนหน้านี้ตัวแทนภาครัฐและเอกชนไทยได้ประชุมหารือติดตามสถานการณ์การค้าชายแดนระหว่างไทยกับ สปป.ลาว และตัวแทนภาคเอกชนไทยนำโดย นายอาสา สารสิน ได้นำคณะไปประชุม Lao-Thai Business Forum ร่วมกับภาคเอกชนลาว ที่ สปป.ลาว ช่วงกลางเดือน ม.ค. 2560 ที่ผ่านมา พบว่าปัจจุบันการค้าการลงทุนระหว่างเอกชนไทยกับเอกชนลาวยังมีปัญหาอุปสรรคหลายด้าน จึงเสนอขอให้ภาครัฐเร่งแก้ไขเพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่าง 2 ฝ่ายมากขึ้น
เพิ่มเส้นทางการค้า-ท่องเที่ยว
ข้อเสนอของเอกชนไทยโดยสภาหอการค้าฯ มีทั้งเรื่องการพัฒนาเส้นทางคมนาคม และการแก้ปัญหาการค้าชายแดนที่เป็นอุปสรรคทั้งของฝ่ายไทยและ สปป.ลาวอาทิ เสนอรัฐบาลไทยผ่านกระทรวงคมนาคม ขยายเส้นทางเศรษฐกิจเพิ่ม 3 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.เส้นทางคู่ขนานPara North-South บ่อเต็น-อุดมชัย-หลวงพระบาง-ไชยบุรี-แก่นเท้า-ท่าลี่-เลย-เพชรบูรณ์-สระบุรี-กรุงเทพฯ เชื่อมเส้นทาง R3A ทางฝั่งไทย ที่ด่านผาแก้ว และด่านภูดู่ จ.อุตรดิตถ์
2.เพิ่มเส้นทาง East West Economic Corridor จากกาฬสินธุ์-สกลนคร-นครพนม ผ่านสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 ที่คำม่วน ไปถนนหมายเลข 12 ผ่านด่านนาพาว ด่านจาลอ ในเวียดนาม ไปเชื่อมถนนหมายเลข 1 ที่ฮาติง เวียดนาม 3.คู่ขนาน Para East West Economic Corridor จากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-บุรีรัมย์-สุรินทร์-ศรีสะเกษ-อุบลราชธานี ผ่านช่องเม็ก วันเตา สปป.ลาว-จำปาสัก-อัตตะปือ-คอนทุม ในเวียดนาม
ขอนำเข้าข้าวโพด-มันสำปะหลัง
ขอให้ทางการไทยอนุญาตให้นำเข้าสินค้าเกษตรบางรายการอย่างข้าวเหนียวข้าวโพด มันสำปะหลัง จาก สปป.ลาว โดยเปิดให้สามารถขายในประเทศไทยได้อย่างเป็นทางการ จากปัจจุบันมีการลักลอบนำเข้าสินค้าดังกล่าวผ่านตามแนวชายแดน และให้ยกฐานะจุดผ่อนปรน ด่านบ้านฮวก จ.พะเยา ด่านปางมอน เมืองเชียงฮ่อน แขวงไชยบุรี สปป.ลาว ให้เป็นจุดผ่านแดนถาวรเพื่อสนับสนุนการค้าและการท่องเที่ยว ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายไทยและ สปป.ลาว อยู่ระหว่างการพิจารณา ขณะที่การขอนำเข้าข้าวเหนียว ปัจจุบันติดข้อกฎหมายไม่สามารถนำเข้าได้ ในทางปฏิบัติต้องเสนอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาทบทวน
ส่วนการนำเข้าข้าวโพด แม้สามารถนำเข้าได้ตามพันธกรณีความตกลงองค์การค้าโลก (WTO) แต่อัตราภาษีอยู่ในระดับที่สูง
เพิ่มเพดาน VAT เป็น 200 US
การแก้ปัญหากรณี สปป.ลาว จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 10 % สำหรับการนำเข้าสินค้าจากฝั่งไทย ในส่วนของสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าเกินกว่า 50 เหรียญสหรัฐขึ้นไป หรือประมาณ 1,500 บาท เอกชนไทยขอให้รัฐบาลไทยเจรจาขอผ่อนปรนกับรัฐบาล สปป.ลาว โดยขอให้ขยายเพดานการจัดเก็บภาษีดังกล่าว โดยเพิ่มวงเงินจากเกินกว่า 50 เหรียญสหรัฐขึ้นไป เป็นเกินกว่า 200 เหรียญสหรัฐ หรือกว่า 6,000 บาทขึ้นไป ซึ่งจากการหารือร่วมกันระหว่างเอกชนไทยกับเอกชนลาวได้ข้อสรุปว่า เอกชนลาวจะช่วยผลักดันเรื่องนี้อีกทางหนึ่ง และให้เปิดจุดบริการคืน VAT สำหรับประชาชน และนักท่องเที่ยวไทยและลาวบริเวณด่านชายแดน
ร่วมพัฒนาเขต ศก.พิเศษ
นอกจากนี้เพื่อความสะดวกทางการค้า ขอให้สถาบันการเงินไทยตามด่านชายแดนรับแลกเปลี่ยนเงินสกุลกีบ กับลดค่าธรรมเนียมในการโอนเงินระหว่างกัน ลาวขอให้ผู้ประกอบการไทยที่ส่งสินค้าไปขาย สปป.ลาว ปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์โดยให้ติดฉลากสินค้าเป็นภาษาลาว ให้ควบคุมไม่ให้นำสินค้าหมดอายุเข้าไปขายใน สปป.ลาว การร่วมกันศึกษาแนวทางพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านการค้า การเงิน และอุตสาหกรรม หรือ Joint Border Special Economic Zones เชียงราย-แขวงบ่อแก้ว, เขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย-ท่านาแล้ง เวียงจันทน์, นครพนม-ท่าแขก, มุกดาหาร-แขวงสะหวันนะเขต และช่องเม็ก-วังเตา
การร่วมกันศึกษาและพัฒนาธุรกิจอีคอมเมิร์ซและการค้าชายแดน การรณรงค์ให้นักธุรกิจชายแดนทั้งไทยและลาวนำเอกสาร Form D มาใช้เพื่อลดต้นทุนในการนำเข้าและส่งออก การขยายเวลาปิดด่านหนองคาย มุกดาหาร และนครพนม จากปัจจุบัน 22.00 น. เป็น 24.00 น. ฯลฯ
ที่มา : ประชาชาติออนไลน์ 19 พฤษภาคม 2560
สมาคมเอทานอลจากมันสำปะหลังตอบรับ พณ. รับซื้อมันสดล็อตสุดท้ายปลายฤดูกาล
สมาคมเอทานอลจากมันสำปะหลังตอบรับ พณ. รับซื้อมันสดล็อตสุดท้ายปลายฤดูกาล พยุงราคา-บรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกร
นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ ผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล และในฐานะนายกสมาคมเอทานอลจากมันสำปะหลัง เปิดเผยว่าในช่วงนี้เป็นที่ทราบดีว่าเป็นปลายฤดูกาล การเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง ผลผลิตออกมาน้อยไม่ต่อเนื่อง นโยบายของผู้ประกอบการเอทานอลภายใต้สมาชิกของสมาคมฯ ยังคงเปิดรับซื้อมันสำปะหลังจากเกษตรกร ให้ดำเนินการรับซื้อเพื่อช่วยพยุงราคาและบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรจากปัญหาราคามันสำปะหลังตกต่ำ โดยมันสำปะหลังที่จะทำการรับซื้อในล็อตสุดท้ายนี้จะนำไปผลิตเป็นเอทานอลต่อไป
"สมาคมเอทานอลจากมันสำปะหลังยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ในการรับซื้อมันสำปะหลังสด เพื่อนำมาผลิตเป็นเอทานอลเกรดเชื้อเพลิง เนื่องจากในอนาคตอันใกล้นี้รัฐบาลจะยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ซึ่งเป็นไปตามแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan 2015) ส่งผลให้มีปริมาณการใช้เอทานอลเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งนี้ คาดว่าความต้องการใช้เอทานอลของไทยในปี 2560 จะอยู่ที่วันละประมาณ 4 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ประมาณ 10% ซึ่งปัจจุบันยอดการใช้เอทานอลต่อวันในเดือน ม.ค. และ ก.พ. 2560 ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนจาก 3.66 ล้านลิตรต่อวัน เป็น 3.74 ล้านลิตรต่อวัน" นายเดชพนต์กล่าว
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 11 พฤษภาคม 2560
ผวจ.สระแก้ว ตั้ง 3 แนวทางแก้ปัญหาชาวไร่มันฯ ขายผลผลิตไม่ได้
สระแก้ว - ผวจ.สระแก้ว ลงพื้นที่ อ.วัฒนานคร แก้ไขปัญหาเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังในพื้นที่ไม่สามารถขายผลผลิตได้หมด หลังโรงงานแป้งมันหยุดการรับซื้อ แจงแนวทางแก้ไขมีทั้งการรับซื้อหัวมันสดที่ถูกเทกองหน้าโรงงานให้หมดก่อนรับซื้อมันฯ ค้างไร่ และหัวมันฯ ที่จะขุดใหม่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
เมื่อเวลา 16.30 น.วันนี้ (1 พ.ค.) นายกล้าณรงค์ พงษ์เจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ได้เดินทางไปยังบริเวณด้านหน้าโรงงานแป้งมันเอี่ยมบูรพา ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ ม.3 ต.หนองน้ำใส อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว หลังได้รับรายงานว่า เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ จ.สระแก้ว กว่า300 คน ได้นำรถบรรทุกหัวมันสดกว่า 100 คัน นำหัวมันสดมาเทกองที่บริเวณด้านหน้าโรงงานดังกล่าว พร้อมปักหลักชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องให้ผู้ประกอบการที่หยุดรับซื้อมันฯ โดยอ้างว่าเครื่องจักรเสีย หันมารับซื้อมันสำปะหลังจากเกษตรกร หลังเกิดปัญหาคิวตกค้าง และมันสำปะหลังได้รับความเสียหายจำนวนมาก
ทั้งนี้ เมื่อเดินทางไปถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ได้เข้าร่วมหารือกับตัวแทนบริษัทเอี่ยมบูรพา อุตสาหกรรมจังหวัด พาณิชย์จังหวัด ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีตัวแทนเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังประมาณ 8 คน เข้าร่วม โดยมีจุดประสงค์สำคัญที่การหาหาแนวทางเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เนื่องจากโรงงานสามารถรับซื้อมันฯ ได้เพียง 700-800 ตันต่อวันเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เกษตรกรได้เรียกร้องให้โรงงานรับซื้อผลผลิตทั้งหมด รวมทั้งต้องการให้เปิดโรงงานใหม่ที่ถูกสั่งปิดไปก่อนหน้า เพื่อเพิ่มปริมาณการรับซื้อให้ได้ทั้งหมด
ด้าน นายกล้าณรงค์ พงษ์เจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ได้ชี้แจงต่อเกษตรถึงข้อสรุปเบื้องต้นว่า ทางโรงงานจะรับซื้อหัวมันที่ตกค้างบริเวณหน้าโรงงานก่อนทั้งหมดในระหว่างวันที่ 1-2 พฤษภาคมนี้ ส่วนในวันที่ 3 พฤษภาคม จะรับซื้อมันที่ค้างไร่ก่อน และจะเริ่มรับซื้อหัวมันที่ขุดใหม่อีกวันละ 1,100 ตัน น ในราคา 1.30 บาทต่อกิโลกรัมในวันถัดดไป และจะให้มีการลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อไม่ให้มีคิวตกค้างอีก
ด้าน นายศุภกฤต พรรคนาวิน อุตสาหกรรมจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า ปัญหาโรงงานใหม่ที่ไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ เนื่องมาจากเป็นก่อสร้างก่อนที่จะได้รับอนุญาต จึงมีคำสั่งให้ปิดโรงงานไว้ก่อน ซึ่งทางโรงงานได้ร้องอุทธรณ์ไปที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีการพิจารณาในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ 1 พฤษภาคม 2560
ชาวยางตลาดผุดอาชีพใหม่หน้าแล้ง บดต้นมันสำปะหลัง โกยเงินเดือนละ 3 หมื่น
วันที่ 27 เมษายน 2560 จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพในช่วงฤดูแล้ง ของชาวบ้านในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ พบว่าที่บ้านคำเจริญ หมู่ 9 ต.เว่อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ได้มีหลายครอบครัวประกอบอาชีพบดลำต้นและใบมันสำปะหลัง เพื่อส่งขายให้กับฟาร์มเลี้ยงวัว มองเห็นอนาคตที่สดใส ก่อนที่จะรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สร้างอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืน
นายบัวศรี หินศิลา อายุ 55 ปี ประชาชนในบ้านคำเจริญ หมู่ 9 ต.เว่อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ได้เริ่มหาลำต้นมันสำปะหลังมาทำการบดแล้วตากแห้ง เพื่อบรรจุกระสอบนำส่งขายให้กับฟาร์มเลี้ยงวัวเมื่อปี 2557 โดยได้แนวทางและวิธีการจากญาติชาว จ.อุดรธานี เริ่มแรกซื้อเครื่องบดมือสอง ราคา 25,000 บาท นำลำต้นมันสำปะซึ่งมีส่วนของใบติดมาด้วย มาเข้าเครื่องบดผสมกัน แล้วผึ่งแดดให้แห้ง รองด้วยแผ่นพลาสติกเพื่อง่ายในการจัดเก็บ ผึ่งเพียง 2 แดดก็แห้ง บรรจุกระสอบๆละประมาณ 15 กก. จำหน่ายราคากระสอบละ 50-70 บาท โดยเจ้าของฟาร์มวัวจะรับซื้อเป็นอาหารเสริมให้กับวัว ซึ่งลำต้นมันสำปะหลังบดดังกล่าว ให้คุณค่าอาหารด้านเพิ่มเนื้อ เพิ่มไขมันและเพิ่มน้ำนม
นายบัวศรีกล่าวอีกว่า ช่วงแรกๆก็นำลำต้นมันสำปะหลังของตนที่ถึงอายุเก็บผลผลิตมาบด พอยอดสั่งซื้อมากขึ้น ลำต้นมันสำปะหลังของตนไม่เพียงพอ ก็ต้องไปให้ติดต่อขอซื้อกับเจ้าของรายอื่นบ้าง หรือจ้างแรงงานไปช่วยบ้าง จึงมีรายจ่ายเพิ่มเข้ามาเฉลี่ยวันละ 600 บาท แต่ก็ถือว่าคุ้ม เพราะทำง่าย ขั้นตอนการทำไม่ซับซ้อน สามารถทำสองคนผัวเมียได้ ที่สำคัญทำได้ตลอดปี จากที่เคยทำนา ทำไร่มันสำปะหลัง และเวลาส่วนมากจะว่างงาน พอได้อาชีพใหม่โดยทำการบดลำมันสำปะหลัง ก็จึงยึดเป็นอาชีพหลัก ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาไม่เคยว่างงานเลย ที่สำคัญทำง่าย ขายง่าย มีตลาดรองรับแน่นนอน โดยมีฟาร์มรับซื้อตอนนี้ 6 แห่ง ในเขต จ.กาฬสินธุ์และใกล้เคียง จัดส่งเดือนละประมาณ 5 เที่ยว รายได้เที่ยวละ 6,000 บาท เฉลี่ยมีรายได้เดือนละ 30,000 บาท
ทั้งนี้ จากการที่ตนมีอาชีพใหม่ ที่ทำแล้วมีรายได้ ไม่ยุ่งยาก ก็มีญาติๆและเพื่อนบ้านหลายครอบครัวทำตามตน ก่อนที่จะรวมตัวกัน 7 ครัวเรือนไปขอยื่นจดทะเบียนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบดลำต้นมันสำปะหลังกับสำนักงานเกษตรอำเภอ ยางตลาด ซึ่งจะเป็นหลักประกันที่มั่นคงให้กับอาชีพบดลำต้นมันสำปะหลัง เพื่อเป็นอาหารเสริมเลี้ยงวัวต่อไป
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ได้หยุดเล่นน้ำสงกรานต์หลายวัน ทั้งรดน้ำ ขอพรผู้หลักผู้ใหญ่ มีลูกหลานมาเยี่ยมยาม และไปทำบุญที่วัด จึงไม่ได้บดลำมันสำปะหลังตากแห้ง ขณะที่มีออร์เดอร์เข้ามามาก จึงได้เร่งผลิตกันยกใหญ่ เพื่อให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า
ที่มา : มติชนออนไลน์ 27 เม.ย. 2560
งานมอบเครื่องปลูกมันสำปะหลัง ให้กับเกษตรกรกลุ่มมันสำปะหลังแปลงใหญ่
เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 60 บริษัท สงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด ได้จัดงานมอบเครื่องปลูกมันสำปะหลัง ให้กับเกษตรกรกลุ่มมันสำปะหลังแปลงใหญ่ ต.หนองบัวศาลา ภายใต้โครงการเกษตรแปลงใหญ่ จ.นครราชสีมา
ซึ่งการจัดงานในวันนี้สืบเนื่องมาจากงาน “ประชารัฐรวมใจ พัฒนาเกษตรแปลงใหญ่มันสำปะหลัง” เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 60 ณ บ้านหัวอ่างพัฒนา ต.หนองไม้ไผ่ อ.หนองบุญมาก ตามนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มบริหารจัดการเครื่องจักรกลเกษตร ซื้อปัจจัยการผลิตและจำหน่ายผลผลิตร่วมกัน โดยเชื่อมโยงกับตลาดรับซื้อและที่สำคัญสามารถเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วย ภายใต้การบูรณาการภาครัฐและเอกชน
โดยบริษัท สงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด เป็นผู้จัดซื้อเครื่องปลูกมันสำปะหลัง รุ่น S1 ล่วงหน้าให้กับกลุ่มเกษตรกรมันฯแปลงใหญ่ โดยเริ่มต้นที่กลุ่ม ต.หนองบัวศาลา อ.เมือง จ.นครราชสีมา เป็นแห่งแรกในรูปแบบการเช่าซื้อโดยไม่มีดอกเบี้ยใดๆ เครื่องปลูกมันสำปะหลัง รุ่น S1 ผลิตโดย บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) มีคุณสมบัติในการยกร่อง ใส่ปุ๋ย ตัดท่อนพันธุ์ ปักท่อนพันธุ์ รวมไปถึงการฉีดยาคุมวัชพืช
การจัดงานในวันนี้ได้รับเกียรติจาก ผชช.สุกิจ รัตนศรีวงษ์ กล่าวชี้แจงบทบาทของกรมวิชาการเกษตรต่อโครงการมันแปลงใหญ่ โดยมี คุณสนิท ดวงสุนทร เกษตรอำเภอเมือง เป็นประธานในพิธี โดยมี อ.เบญมาศ คำสืบ ให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและการแปรผลจากการตรวจดิน นอกจากนี้ คุณดิเชษฐ์ กาจสงคราม ยังได้ให้ความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติ การใช้งาน และการดูแลบำรุงรักษาเครื่อง พร้อมสาธิตและให้เกษตรกรได้ทดลองขึ้นปลูกจริง
ในการนี้ บริษัท สงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด ขอขอบคุณความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการร่วมดำเนินการจัดงานในครั้งนี้