Company Logo





พยากรณ์อากาศ

"อภิรดี" นั่งประธานบอร์ดใหม่ สถาบันสินค้าเกษตรนวัตกรรม


อภิรดี ตันตราภรณ์

เปิดตัว "สถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรม" ภายใต้กรมการค้าต่างประเทศ ประเดิมประชุมบอร์ดนัดแรก 22 พ.ค.นี้ ตั้งเป้าทำตลาดสินค้านวัตกรรมข้าว-มันสำปะหลัง หลังหมดยุคโครงการรับจำนำ

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2560 จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรม (Institute for Agricultural Product Innovation : API) ครั้งที่ 1/2560 โดยมีนางอภิรดีตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน เพื่อกำหนดแนวทางการทำงานของสถาบันฯ หลังจากได้มีคำสั่ง 177/2560 แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสถาบันฯ ขึ้นเมื่อ 23 มีนาคม 2560

   "เดือนกันยายนนี้คาดว่าจะเปิดระบายข้าวสารในสต๊อกหมด ตามนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในยุคของ คสช.จะไม่มีโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรแน่นอน ต่อไปการทำงานของกรมจะมุ่งส่งเสริมการตลาดสินค้าเกษตรนวัตกรรม ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นนวัตกรรมที่ก้าวล้ำมาก ๆ เพียงให้เป็นการประยุกต์ พัฒนา และใช้ได้ในชีวิตประจำวันสร้างมูลค่าเพิ่มจากเดิมผู้ประกอบการไทยมักจะขาย สินค้าเกษตรขั้นพื้นฐาน ทำให้ขายได้ราคาไม่สูงนัก การพัฒนานวัตกรรมจะทำให้มีความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน"

   สำหรับการประชุมครั้งแรกจะหารือถึงบทบาทหน้าที่ของสถาบัน โดยหลักจะมุ่งเน้นอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ เช่น การขอใบอนุญาตจากหน่วยงานต่าง ๆ

     ซึ่งสถาบันนี้จะช่วยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่อยู่ภายใต้คณะกรรมการฯ นอกจากนี้กรมจะเชื่อมโยงการทำตลาดสินค้าเกษตรนวัตกรรมกับโครงการพัฒนาผู้ ประกอบการรุ่นใหม่ในอาเซียน (YEN-D) เพื่อขยายตลาดให้สินค้าไทย

   "บทบาทของสถาบันไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นแน่นอน อย่างกรมการข้าวจะเน้นดูแลภาคการผลิต หรือหน่วยงานอื่นอีก 5 หน่วยงาน เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จะเน้นด้านการวิจัย แต่สถาบันจะเน้นด้านการทำตลาด และอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ โดยสินค้าเป้าหมายกลุ่มแรกเน้นสินค้าข้าวและมันสำปะหลัง ขณะนี้มีผู้ประกอบการไทยพัฒนานวัตกรรมและมีองค์การต่าง ๆ ที่ทำวิจัยไปบ้างแล้ว ทางสถาบันจะเข้าไปต่อยอดช่วยด้านการตลาด ส่วนงบประมาณสนับสนุนในปีแรกจะดึงจากกองทุนข้าว ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของกรมการค้าต่างประเทศประมาณ 10 ล้านบาท สำหรับใช้บริหารจัดการชั่วคราวก่อนจะทำแผนเสนอของบประมาณ ปี 2562"

   ทั้งนี้ สถาบันฯเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกรมการค้าต่างประเทศ มีฐานะเทียบเท่ากอง โดยมีนางสาวจารุมน วินิชสุวรรณ เป็นผู้อำนวยการสถาบันคนแรก สำหรับองค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารสถาบันฯมี 13 คน โดยมีรมว.พาณิชย์เป็นประธาน และปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นรองประธาน โดยมีกรรมการ 4 คน ประกอบด้วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 4 คน ประกอบด้วยนางพวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์,รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี, ดร.พรรณวิภา กฤษฎาพงษ์, นายวัชรพล บุญหลาย โดยมีอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นกรรมการและเลขานุการ, มีรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ และมีนายวรวรรณ วรรณวิล นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์  22 พ.ค. 60

หนุนเจรจาลาวปลุกค้าชายแดน เพิ่มเพดานสินค้านำเข้าจากไทย

 
สภาหอการค้าฯชง "สมคิด" เจรจาลาว ปลุกการค้าชายแดน-ท่องเที่ยว จี้คมนาคมเพิ่ม 3 เส้นทางเชื่อมลาว-เวียดนาม เปิดเสรีนำเข้าข้าวโพด-มัน หนุนร่วมพัฒนาเขต ศก.พิเศษ เพิ่มเพดานสินค้านำเข้าจากไทย

แหล่งข่าวจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทย นำโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 23-25 พ.ค. 2560 นอกจากจะมีการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือทางด้านการค้า การลงทุนระหว่าง 2 ประเทศแล้ว สภาหอการค้าฯได้เสนอให้มีการเจรจาเพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าชายแดน การส่งเสริมการท่องเที่ยวรวมทั้งหาทางแก้ปัญหาอุปสรรคด้านการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับ สปป.ลาวเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนระหว่างกันเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวเป็นการสานต่อความร่วมมือของทั้ง2 ประเทศ หลังก่อนหน้านี้ตัวแทนภาครัฐและเอกชนไทยได้ประชุมหารือติดตามสถานการณ์การค้าชายแดนระหว่างไทยกับ สปป.ลาว และตัวแทนภาคเอกชนไทยนำโดย นายอาสา สารสิน ได้นำคณะไปประชุม Lao-Thai Business Forum ร่วมกับภาคเอกชนลาว ที่ สปป.ลาว ช่วงกลางเดือน ม.ค. 2560 ที่ผ่านมา พบว่าปัจจุบันการค้าการลงทุนระหว่างเอกชนไทยกับเอกชนลาวยังมีปัญหาอุปสรรคหลายด้าน จึงเสนอขอให้ภาครัฐเร่งแก้ไขเพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่าง 2 ฝ่ายมากขึ้น

เพิ่มเส้นทางการค้า-ท่องเที่ยว

ข้อเสนอของเอกชนไทยโดยสภาหอการค้าฯ มีทั้งเรื่องการพัฒนาเส้นทางคมนาคม และการแก้ปัญหาการค้าชายแดนที่เป็นอุปสรรคทั้งของฝ่ายไทยและ สปป.ลาวอาทิ เสนอรัฐบาลไทยผ่านกระทรวงคมนาคม ขยายเส้นทางเศรษฐกิจเพิ่ม 3 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.เส้นทางคู่ขนานPara North-South บ่อเต็น-อุดมชัย-หลวงพระบาง-ไชยบุรี-แก่นเท้า-ท่าลี่-เลย-เพชรบูรณ์-สระบุรี-กรุงเทพฯ เชื่อมเส้นทาง R3A ทางฝั่งไทย ที่ด่านผาแก้ว และด่านภูดู่ จ.อุตรดิตถ์

2.เพิ่มเส้นทาง East West Economic Corridor จากกาฬสินธุ์-สกลนคร-นครพนม ผ่านสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 ที่คำม่วน ไปถนนหมายเลข 12 ผ่านด่านนาพาว ด่านจาลอ ในเวียดนาม ไปเชื่อมถนนหมายเลข 1 ที่ฮาติง เวียดนาม 3.คู่ขนาน Para East West Economic Corridor จากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-บุรีรัมย์-สุรินทร์-ศรีสะเกษ-อุบลราชธานี ผ่านช่องเม็ก วันเตา สปป.ลาว-จำปาสัก-อัตตะปือ-คอนทุม ในเวียดนาม

ขอนำเข้าข้าวโพด-มันสำปะหลัง

ขอให้ทางการไทยอนุญาตให้นำเข้าสินค้าเกษตรบางรายการอย่างข้าวเหนียวข้าวโพด มันสำปะหลัง จาก สปป.ลาว โดยเปิดให้สามารถขายในประเทศไทยได้อย่างเป็นทางการ จากปัจจุบันมีการลักลอบนำเข้าสินค้าดังกล่าวผ่านตามแนวชายแดน และให้ยกฐานะจุดผ่อนปรน ด่านบ้านฮวก จ.พะเยา ด่านปางมอน เมืองเชียงฮ่อน แขวงไชยบุรี สปป.ลาว ให้เป็นจุดผ่านแดนถาวรเพื่อสนับสนุนการค้าและการท่องเที่ยว ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายไทยและ สปป.ลาว อยู่ระหว่างการพิจารณา ขณะที่การขอนำเข้าข้าวเหนียว ปัจจุบันติดข้อกฎหมายไม่สามารถนำเข้าได้ ในทางปฏิบัติต้องเสนอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาทบทวน

ส่วนการนำเข้าข้าวโพด แม้สามารถนำเข้าได้ตามพันธกรณีความตกลงองค์การค้าโลก (WTO) แต่อัตราภาษีอยู่ในระดับที่สูง

เพิ่มเพดาน VAT เป็น 200 US 

การแก้ปัญหากรณี สปป.ลาว จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 10 % สำหรับการนำเข้าสินค้าจากฝั่งไทย ในส่วนของสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าเกินกว่า 50 เหรียญสหรัฐขึ้นไป หรือประมาณ 1,500 บาท เอกชนไทยขอให้รัฐบาลไทยเจรจาขอผ่อนปรนกับรัฐบาล สปป.ลาว โดยขอให้ขยายเพดานการจัดเก็บภาษีดังกล่าว โดยเพิ่มวงเงินจากเกินกว่า 50 เหรียญสหรัฐขึ้นไป เป็นเกินกว่า 200 เหรียญสหรัฐ หรือกว่า 6,000 บาทขึ้นไป ซึ่งจากการหารือร่วมกันระหว่างเอกชนไทยกับเอกชนลาวได้ข้อสรุปว่า เอกชนลาวจะช่วยผลักดันเรื่องนี้อีกทางหนึ่ง และให้เปิดจุดบริการคืน VAT สำหรับประชาชน และนักท่องเที่ยวไทยและลาวบริเวณด่านชายแดน

ร่วมพัฒนาเขต ศก.พิเศษ

นอกจากนี้เพื่อความสะดวกทางการค้า ขอให้สถาบันการเงินไทยตามด่านชายแดนรับแลกเปลี่ยนเงินสกุลกีบ กับลดค่าธรรมเนียมในการโอนเงินระหว่างกัน ลาวขอให้ผู้ประกอบการไทยที่ส่งสินค้าไปขาย สปป.ลาว ปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์โดยให้ติดฉลากสินค้าเป็นภาษาลาว ให้ควบคุมไม่ให้นำสินค้าหมดอายุเข้าไปขายใน สปป.ลาว การร่วมกันศึกษาแนวทางพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านการค้า การเงิน และอุตสาหกรรม หรือ Joint Border Special Economic Zones เชียงราย-แขวงบ่อแก้ว, เขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย-ท่านาแล้ง เวียงจันทน์, นครพนม-ท่าแขก, มุกดาหาร-แขวงสะหวันนะเขต และช่องเม็ก-วังเตา

การร่วมกันศึกษาและพัฒนาธุรกิจอีคอมเมิร์ซและการค้าชายแดน การรณรงค์ให้นักธุรกิจชายแดนทั้งไทยและลาวนำเอกสาร Form D มาใช้เพื่อลดต้นทุนในการนำเข้าและส่งออก การขยายเวลาปิดด่านหนองคาย มุกดาหาร และนครพนม จากปัจจุบัน 22.00 น. เป็น 24.00 น. ฯลฯ


ที่มา : ประชาชาติออนไลน์ 19 พฤษภาคม 2560

สมาคมเอทานอลจากมันสำปะหลังตอบรับ พณ. รับซื้อมันสดล็อตสุดท้ายปลายฤดูกาล

 

สมาคมเอทานอลจากมันสำปะหลังตอบรับ พณ. รับซื้อมันสดล็อตสุดท้ายปลายฤดูกาล พยุงราคา-บรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกร

นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ ผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล และในฐานะนายกสมาคมเอทานอลจากมันสำปะหลัง เปิดเผยว่าในช่วงนี้เป็นที่ทราบดีว่าเป็นปลายฤดูกาล การเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง ผลผลิตออกมาน้อยไม่ต่อเนื่อง นโยบายของผู้ประกอบการเอทานอลภายใต้สมาชิกของสมาคมฯ ยังคงเปิดรับซื้อมันสำปะหลังจากเกษตรกร ให้ดำเนินการรับซื้อเพื่อช่วยพยุงราคาและบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรจากปัญหาราคามันสำปะหลังตกต่ำ โดยมันสำปะหลังที่จะทำการรับซื้อในล็อตสุดท้ายนี้จะนำไปผลิตเป็นเอทานอลต่อไป

"สมาคมเอทานอลจากมันสำปะหลังยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ในการรับซื้อมันสำปะหลังสด เพื่อนำมาผลิตเป็นเอทานอลเกรดเชื้อเพลิง เนื่องจากในอนาคตอันใกล้นี้รัฐบาลจะยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ซึ่งเป็นไปตามแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan 2015) ส่งผลให้มีปริมาณการใช้เอทานอลเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งนี้ คาดว่าความต้องการใช้เอทานอลของไทยในปี 2560 จะอยู่ที่วันละประมาณ 4 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ประมาณ 10% ซึ่งปัจจุบันยอดการใช้เอทานอลต่อวันในเดือน ม.ค. และ ก.พ. 2560 ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนจาก 3.66 ล้านลิตรต่อวัน เป็น 3.74 ล้านลิตรต่อวัน" นายเดชพนต์กล่าว 

 ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 11 พฤษภาคม 2560

ผวจ.สระแก้ว ตั้ง 3 แนวทางแก้ปัญหาชาวไร่มันฯ ขายผลผลิตไม่ได้

 

 

 

สระแก้ว - ผวจ.สระแก้ว ลงพื้นที่ อ.วัฒนานคร แก้ไขปัญหาเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังในพื้นที่ไม่สามารถขายผลผลิตได้หมด หลังโรงงานแป้งมันหยุดการรับซื้อ แจงแนวทางแก้ไขมีทั้งการรับซื้อหัวมันสดที่ถูกเทกองหน้าโรงงานให้หมดก่อนรับซื้อมันฯ ค้างไร่ และหัวมันฯ ที่จะขุดใหม่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน 
       
       เมื่อเวลา 16.30 น.วันนี้ (1 พ.ค.) นายกล้าณรงค์ พงษ์เจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ได้เดินทางไปยังบริเวณด้านหน้าโรงงานแป้งมันเอี่ยมบูรพา ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ ม.3 ต.หนองน้ำใส อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว หลังได้รับรายงานว่า เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ จ.สระแก้ว กว่า300 คน ได้นำรถบรรทุกหัวมันสดกว่า 100 คัน นำหัวมันสดมาเทกองที่บริเวณด้านหน้าโรงงานดังกล่าว พร้อมปักหลักชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องให้ผู้ประกอบการที่หยุดรับซื้อมันฯ โดยอ้างว่าเครื่องจักรเสีย หันมารับซื้อมันสำปะหลังจากเกษตรกร หลังเกิดปัญหาคิวตกค้าง และมันสำปะหลังได้รับความเสียหายจำนวนมาก
       
       ทั้งนี้ เมื่อเดินทางไปถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ได้เข้าร่วมหารือกับตัวแทนบริษัทเอี่ยมบูรพา อุตสาหกรรมจังหวัด พาณิชย์จังหวัด ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีตัวแทนเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังประมาณ 8 คน เข้าร่วม โดยมีจุดประสงค์สำคัญที่การหาหาแนวทางเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เนื่องจากโรงงานสามารถรับซื้อมันฯ ได้เพียง 700-800 ตันต่อวันเท่านั้น
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เกษตรกรได้เรียกร้องให้โรงงานรับซื้อผลผลิตทั้งหมด รวมทั้งต้องการให้เปิดโรงงานใหม่ที่ถูกสั่งปิดไปก่อนหน้า เพื่อเพิ่มปริมาณการรับซื้อให้ได้ทั้งหมด
       
       ด้าน นายกล้าณรงค์ พงษ์เจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ได้ชี้แจงต่อเกษตรถึงข้อสรุปเบื้องต้นว่า ทางโรงงานจะรับซื้อหัวมันที่ตกค้างบริเวณหน้าโรงงานก่อนทั้งหมดในระหว่างวันที่ 1-2 พฤษภาคมนี้ ส่วนในวันที่ 3 พฤษภาคม จะรับซื้อมันที่ค้างไร่ก่อน และจะเริ่มรับซื้อหัวมันที่ขุดใหม่อีกวันละ 1,100 ตัน น ในราคา 1.30 บาทต่อกิโลกรัมในวันถัดดไป และจะให้มีการลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อไม่ให้มีคิวตกค้างอีก
       
       ด้าน นายศุภกฤต พรรคนาวิน อุตสาหกรรมจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า ปัญหาโรงงานใหม่ที่ไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ เนื่องมาจากเป็นก่อสร้างก่อนที่จะได้รับอนุญาต จึงมีคำสั่งให้ปิดโรงงานไว้ก่อน ซึ่งทางโรงงานได้ร้องอุทธรณ์ไปที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีการพิจารณาในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ 

 

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ 1 พฤษภาคม 2560

ชาวยางตลาดผุดอาชีพใหม่หน้าแล้ง บดต้นมันสำปะหลัง โกยเงินเดือนละ 3 หมื่น

 

 

วันที่ 27 เมษายน 2560 จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพในช่วงฤดูแล้ง ของชาวบ้านในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ พบว่าที่บ้านคำเจริญ หมู่ 9 ต.เว่อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ได้มีหลายครอบครัวประกอบอาชีพบดลำต้นและใบมันสำปะหลัง เพื่อส่งขายให้กับฟาร์มเลี้ยงวัว มองเห็นอนาคตที่สดใส ก่อนที่จะรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สร้างอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืน

นายบัวศรี หินศิลา อายุ 55 ปี ประชาชนในบ้านคำเจริญ หมู่ 9 ต.เว่อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ได้เริ่มหาลำต้นมันสำปะหลังมาทำการบดแล้วตากแห้ง เพื่อบรรจุกระสอบนำส่งขายให้กับฟาร์มเลี้ยงวัวเมื่อปี 2557 โดยได้แนวทางและวิธีการจากญาติชาว จ.อุดรธานี เริ่มแรกซื้อเครื่องบดมือสอง ราคา 25,000 บาท นำลำต้นมันสำปะซึ่งมีส่วนของใบติดมาด้วย มาเข้าเครื่องบดผสมกัน แล้วผึ่งแดดให้แห้ง รองด้วยแผ่นพลาสติกเพื่อง่ายในการจัดเก็บ ผึ่งเพียง 2 แดดก็แห้ง บรรจุกระสอบๆละประมาณ 15 กก. จำหน่ายราคากระสอบละ 50-70 บาท โดยเจ้าของฟาร์มวัวจะรับซื้อเป็นอาหารเสริมให้กับวัว ซึ่งลำต้นมันสำปะหลังบดดังกล่าว ให้คุณค่าอาหารด้านเพิ่มเนื้อ เพิ่มไขมันและเพิ่มน้ำนม

 

 

นายบัวศรีกล่าวอีกว่า ช่วงแรกๆก็นำลำต้นมันสำปะหลังของตนที่ถึงอายุเก็บผลผลิตมาบด พอยอดสั่งซื้อมากขึ้น ลำต้นมันสำปะหลังของตนไม่เพียงพอ ก็ต้องไปให้ติดต่อขอซื้อกับเจ้าของรายอื่นบ้าง หรือจ้างแรงงานไปช่วยบ้าง จึงมีรายจ่ายเพิ่มเข้ามาเฉลี่ยวันละ 600 บาท แต่ก็ถือว่าคุ้ม เพราะทำง่าย ขั้นตอนการทำไม่ซับซ้อน สามารถทำสองคนผัวเมียได้ ที่สำคัญทำได้ตลอดปี จากที่เคยทำนา ทำไร่มันสำปะหลัง และเวลาส่วนมากจะว่างงาน พอได้อาชีพใหม่โดยทำการบดลำมันสำปะหลัง ก็จึงยึดเป็นอาชีพหลัก ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาไม่เคยว่างงานเลย ที่สำคัญทำง่าย ขายง่าย มีตลาดรองรับแน่นนอน โดยมีฟาร์มรับซื้อตอนนี้ 6 แห่ง ในเขต จ.กาฬสินธุ์และใกล้เคียง จัดส่งเดือนละประมาณ 5 เที่ยว รายได้เที่ยวละ 6,000 บาท เฉลี่ยมีรายได้เดือนละ 30,000 บาท

 

 

ทั้งนี้ จากการที่ตนมีอาชีพใหม่ ที่ทำแล้วมีรายได้ ไม่ยุ่งยาก ก็มีญาติๆและเพื่อนบ้านหลายครอบครัวทำตามตน ก่อนที่จะรวมตัวกัน 7 ครัวเรือนไปขอยื่นจดทะเบียนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบดลำต้นมันสำปะหลังกับสำนักงานเกษตรอำเภอ ยางตลาด ซึ่งจะเป็นหลักประกันที่มั่นคงให้กับอาชีพบดลำต้นมันสำปะหลัง เพื่อเป็นอาหารเสริมเลี้ยงวัวต่อไป

 

 

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ได้หยุดเล่นน้ำสงกรานต์หลายวัน ทั้งรดน้ำ ขอพรผู้หลักผู้ใหญ่ มีลูกหลานมาเยี่ยมยาม และไปทำบุญที่วัด จึงไม่ได้บดลำมันสำปะหลังตากแห้ง ขณะที่มีออร์เดอร์เข้ามามาก จึงได้เร่งผลิตกันยกใหญ่ เพื่อให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า

 

ที่มา : มติชนออนไลน์ 27 เม.ย. 2560






Powered by Allweb Technology.