Company Logo





พยากรณ์อากาศ

“อภิรดี” บินขายมันเกาหลีใต้ ก่อนรุกต่อจีนปลายสิงหาคมนี้

 

 

พาณิชย์นำคณะเอกชนเดินทางเจรจาซื้อขายมันสำปะหลังในตลาดเกาหลีใต้ 27-30 ส.ค.นี้

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปี 2560 กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มีแผนในการผลักดันสินค้าเกษตรกรเพื่อการส่งออกให้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2560 กรมได้จัดโครงการจับคู่ธุรกิจยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางเพื่อเร่งรัดการส่งออก กับประเทศผู้นำเข้ารายสำคัญ และในช่วงปลายเดือนกรมจะนำคณะผู้แทนการค้าเดินทางไปเจรจาการค้า และผลักดันการเปิดตลาดสินค้าแป้งมันสำปะหลังที่ประเทศเกาหลีใต้ รวมไปถึงตลาดจีนในระยะต่อไป

“การส่งออกข้าวปีนี้น่าจะขายได้ถึง 11 ล้านตัน มากกว่าเป้าหมายที่ 10 ล้านตัน เนื่องจากตลาดโลกเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้ราคาอยู่ในระดับที่สูง”

ส่วนการนำคณะผู้แทนเยือนเกาหลีใต้เพื่อขยายตลาดการค้า การส่งออก เบื้องต้นกำหนดเดินทางระหว่างวันที่ 27-30 สิงหาคม 2560 โดยมีกำหนดเข้าหารือกับหน่วยงานรัฐ สมาคม ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการซื้อ และใช้สินค้าแป้งมันสำปะหลัง เพื่อเจรจาธุรกิจ พร้อมกันนี้กำหนดการพบปะและหารือกับสมาคมกระดาษเกาหลีใต้ และสมาคมสหกรณ์อุตสาหกรรมเส้นก๋วยเตี๋ยว และผู้นำเข้ารายสำคัญด้วย

สำหรับสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปตลาดเกาหลีใต้ เช่น แผงวงจรไฟฟ้า ยางพารา ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม เป็นต้น

ขณะที่มูลค่าการค้าระหว่างไทย-เกาหลีใต้ ช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2560 มีมูลค่าการค้าอยู่ที่ 6,339.91 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 18.13% การส่งออกอยู่ที่ 2,386.70 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 24.21% การนำเข้าอยู่ที่ 3,953.20 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 14.74% ไทยยังขาดดุลการค้าอยู่ที่ 1,566.50 ล้านเหรียญสหรัฐ

นางอภิรดีกล่าวอีกว่า สำหรับการเจรจาซื้อขายสินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ยางนั้น มีผู้นําเข้าร่วมเจรจาทั้งสิ้น 106 บริษัท จาก 27 ประเทศ ผู้ส่งออกไทยรวม 91 ราย และจากประเทศผู้นำเข้ารายสำคัญ เช่น จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลี ตุรกี ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน จอร์แดน UAE เลบานอน อินเดีย บังกลาเทศ เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ โปแลนด์ อังกฤษ สเปน อิตาลี ฮังการี รัสเซีย เยอรมนี อาร์เจนตินา สหรัฐ โคลอมเบีย เม็กซิโก อียิปต์

ผลสรุปปริมาณการเจรจา และเกิดการสั่งซื้อ ได้แก่ 1.ยางพาราธรรมชาติ (ยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้น และยางคอมพาวนด์) รวม 442,740 ตัน กําหนดส่งมอบภายใน 1 ปี คิดเป็นมูลค่าสั่งซื้อ 24,350.7 ล้านบาท คํานวณราคายาง ณ วันที่ 2 สิงหาคมอยู่ที่ราคา 55 บาทต่อกิโลกรัม สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่จํานวน 300,000 ตัน มูลค่า 15,000 ล้านบาท 2.ผลิตภัณฑ์ยาง (ล้อยางและถุงมือยาง) คิดเป็นมูลค่าการสั่งซื้อรวมทั้งสิ้น 61.21 ล้านเหรียญ คิดเป็นมูลค่า 2,081.14 ล้านบาท รวมเป็นมูลค่าสั่งซื้อภายในงานที่เกิดขึ้น มีจำนวนการซื้อขายอยู่ที่ 26,431.14 ล้านบาท กำหนดส่งมอบภายใน 1 ปี อย่างไรก็ตาม การจัดกิจกรรมดังกล่าวประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก จะส่งผลให้ราคาภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น

ที่า : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 17 สิงหาคม 2560

“พาณิชย์” เพิ่มมาตรการดันราคาข้าวโพด-มันสำปะหลัง ดึงผู้ใช้ซื้อตรงกับเกษตรกร

 

 

  “พาณิชย์” เพิ่มมาตรการดูแลข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลังปี 2560/61 เตรียมใช้โมเดล 3 ประสาน ดึงผู้ซื้อรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกร นำร่องที่โคราช ก่อนขยายไปจังหวัดอื่น ส่วนมันสำปะหลัง ดึงโรงงานเอทานอลรับซื้อมันเส้นสะอาด มั่นใจช่วยเกษตรกรขายได้ราคาดีขึ้น และป้องกันปัญหาราคาตกต่ำ
       
       นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำมาตรการบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง ฤดูการผลิตปี 2560/61 ที่จะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ส.ค.นี้ โดยกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อทำให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรม และรักษาเสถียรภาพราคา ไม่ให้เกิดปัญหาราคาตกต่ำ โดยมีแผนที่จะทำการเชื่อมโยงตลาดให้กับเกษตรกรผ่านการหาตลาดรองรับผลผลิตให้เป็นการล่วงหน้ากับสินค้าทั้ง 2 รายการ
       
       โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ใช้โมเดล 3 ประสาน ระหว่างเกษตรกร ผู้รวบรวม (พ่อค้าคนกลาง) และโรงงานอาหารสัตว์ โดยเร็วๆ นี้จะจัดให้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เมล็ดแห้ง เบอร์ 2 ความชื้น 14.5% กิโลกรัม (กก.) ละ 8 บาท ระหว่าง หจก.ตรงพานิช กับสหกรณ์การเกษตรนิคมลำตะคอง ปริมาณ 10,000 ตัน และสหกรณ์การเกษตรปากช่อง 5,000 ตัน รวม 15,000 ตัน และจะใช้โมเดลนี้ในจังหวัดอื่นๆ ที่มีโรงงานอาหารสัตว์ต่อไป
       
       ขณะเดียวกัน จะส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์คุณภาพดี ที่ความชื้นไม่เกิน 14.5% โดยเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วควรตากให้แห้ง และทยอยนำออกมาขายเพื่อให้ขายได้ที่ กก.ละไม่ต่ำกว่า 8 บาท และยังมีแผนผลักดันส่งออกในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก เช่น ฟิลิปปินส์ ที่เป็นลูกค้าเก่า และศรีลังกา ซึ่งเป็นตลาดใหม่
       
       นางอภิรดีกล่าวว่า สำหรับมันสำปะหลัง ได้ทำการเชื่อมโยงตลาดล่วงหน้าให้กับกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตมันเส้นสะอาดกับโรงงานเอทานอล เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้มันสดในประเทศ โดยในช่วงปลายเดือน ส.ค.นี้ บริษัท ทรัพย์ทิพย์ เอทานอล จำกัด จะลงนามใน MOU เพื่อรับซื้อมันสดจากสหกรณ์การเกษตรด่านขุนทดปีละ 10,000 ตัน และสหกรณ์การเกษตรเทพารักษ์ ปีละ 10,000 ตัน รวมทั้งจะเชื่อมโยงตลาดกับกลุ่มปศุสัตว์ เช่น โคเนื้อ โคนม และส่งเสริมการปลูกมันออร์แกนิกรองรับความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น รวมถึงส่งเสริมการแปรรูปมันเป็นสินค้าอื่นๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เช่น อาหารเด็ก อาหารผู้สูงวัย เป็นต้น
       
       นอกจากนี้ ได้ขอความร่วมมือสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย และสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้กำหนดแนวทางความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน เพื่อไม่ให้ส่งออกมันเส้นในราคาต่ำเกินจริงหรือไม่ขายตัดราคากันเอง เพราะจะทำให้เกษตรกรเดือดร้อน จากการถูกกดราคารับซื้อหัวมันสด และยังทำให้ราคาหัวมันตกต่ำ รวมถึงต้องมีมาตรการลงโทษสำหรับคนทำผิดด้วย

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ 16 สิงหาคม 2560

วช.สนองนโยบายรัฐบาล พัฒนาเครื่องสับมันสำปะหลังสำหรับเกษตรกรรายย่อย

จากนโยบายของรัฐบาลข้อ ๘ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จาก วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม ด้วยการสนับสนุนงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาของประเทศเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมาย ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันและมีความก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศอื่นที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน และจัดระบบบริหารงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรมให้มีเอกภาพและประสิทธิภาพโดยให้มีความเชื่อมโยงกับภาคเอกชน เร่งสร้างสังคมนวัตกรรม และปฏิรูประบบการให้สิ่งจูงใจต่อการนำงานวิจัยและพัฒนาไปต่อยอดหรือใช้ประโยชน์ได้จริง

 

 

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ในการวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดสรรงบประมาณการวิจัยให้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ในการบริหารจัดการสนับสนุนการทำวิจัย ตามแผนงานวิจัยมุ่งเป้า เพื่อตอบสนองความต้องการพัฒนาประเทศโดยเร่งด่วน : กลุ่มเรื่องมันสำปะหลัง ตั้งแต่งบประมาณ ๒๕๕๕ ซึ่งได้สนับสนุนทุนอุดหนุนการวิจัยแก่โครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาเครื่องสับมันปะหลังสำหรับเกษตรกรรายย่อย” ของ นายจรูญศักดิ์ สมพงศ์ และคณะ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ในการพัฒนาเครื่องสับมันสำปะหลัง เนื่องจากกระบวนการผลิตมันเส้นที่สะอาดจะต้องตัดเหง้าและทำความสะอาด และลดความชื้นโดยการตากแดด การลดขนาดของหัวมันเกษตรกรนิยมใช้มีดสับมันเสี่ยงต่ออันตราย และหากใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ชิ้นมันที่ได้จะใหญ่และตากไม่แห้ง เสี่ยงต่อการเกิดเชื้อรา นอกจากนี้เครื่องสับมันและเครื่องทำความสะอาดไม่ได้ทำงานต่อเนื่องในชุดเดียวกันทำให้เพิ่มขั้นตอนในการทำงานและค่าใช้จ่าย จึงไม่เหมาะกับเกษตรกรรายย่อย ดังนั้นการพัฒนาเครื่องสับมันสำปะหลังนี้จึงเป็นการพัฒนาเครื่องสับหัวมันสำปะหลังที่ประกอบด้วย ๒ ส่วนหลัก คือ ชุดทำความสะอาด และชุดสับหัวมันสำปะหลัง เพื่อลดขั้นตอนการทำงาน และอันตราย รวมถึงลดค่าใช้จ่าย และการเสียหายของผลผลิต ด้วยเครื่องขนาดเล็ก ดูแลรักษาง่าย สามารถขนย้ายและติดตั้งได้สะดวกและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นการยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังให้เหมาะสมกับเกษตรกรรายย่อยของไทยได้ดีขึ้น  

 

 

ผู้วิจัยได้พัฒนาเครื่องทำความสะอาดมันสำปะหลัง ทรงกระบอกมีรูขนาด ๑ นิ้ว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของตะแกรง ๐.๗๕๙ เมตร ยาว ๒.๕๐ เมตร ซึ่งสามารถป้อนมันสำปะหลังเข้าไปในตะแกรงที่มีปริมาตร ๔๐% ของปริมาตรตะแกรง และหมุนความเร็วรอบ ๑๕ รอบต่อนาที ประมาณ ๑๐ นาที โดยใช้ต้นกำลังมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด ๑/๒ แรงม้า ความเร็วรอบ ๑,๔๕๐ รอบต่อนาที สามารถทำความสะอาดมันสำปะหลังด้วยอัตรา ๑,๐๔๕ กิโลกรัมต่อชั่วโมง หรือ ๘,๓๖๒ ตันต่อวัน ในส่วนของเครื่องสับมันสำปะหลัง จะป้อนมันสำปะหลังเข้าทางบนของตัวเครื่อง หัวมันสำปะหลังจะปะทะเข้ากับจานรูปทรงกรวยแบน เพื่อกระจายสู่ช่องป้อน ๔ ช่องแต่ละช่องจะทำมุม ๗๕ องศากับแนวระดับ และจากการทดสอบการตัดหัวมันด้วยหลักการของเพนดูลัม พบว่า มุมของใบมีดที่เหมาะสม คือ ๓๐ องศา มาการตัดที่เหมาะสม คือ ๗๕ องศา และความเร็วของใบมีดที่เหมาะสม คือ ๔.๓๔ m/s ซึ่งหัวมันสำปะหลังจะถูกตัดภายในช่องป้อนที่ระยะ ๓๐ เซนติเมตร จากจุดหมุนใบมีดสับ ทำให้ตัดด้วยพลังงานต่ำสุด โดยเครื่องสับมันสำปะหลังใช้ต้นกำลังมอเตอร์ไฟฟ้า ขนาด ๒ แรงม้า ความเร็วรอบ ๑,๔๕๐ รอบต่อนาที การทำงานของเครื่องสามารถสับมันด้วยอัตรา ๑,๓๑๐ กิโลกรัมต่อชั่วโมง หรือ ๑๐,๔๗ ตันต่อวัน ที่ความหนาชิ้นมันประมาณ ๑๐.๔ มิลลิเมตร การพัฒนาเครื่องสับมันสำปะหลังสำหรับเกษตรกรรายย่อยที่พัฒนาแล้วนี้ เหมาะสำหรับเกษตรกรรายย่อยที่จะช่วยลดขั้นตอนในการทำงาน แรงงาน เวลา และค่าใช้จ่าย และที่สำคัญจะช่วยรักษาความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินให้กับเกษตรกรผู้ใช้ที่จะต้องไปเสี่ยงกับการใช้เครื่องสับมันสำปะหลังขนาดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ที่มา : สยามโฟกัสไทม์ 10 ส.ค. 2560

 

คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ลุยแก้ปัญหาข้าวโพด-มันสำปะหลัง-ปาล์มน้ำมัน

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ว่า ที่ประชุมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตร 3 ชนิดคือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน

 

 

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ว่า ที่ประชุมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตร 3 ชนิดคือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน

โดยในส่วนของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ประชุมจะออกประกาศให้พ่อค้าคนกลางที่รับซื้อ ครอบครองข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่ 50 ตันขึ้นไป ต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่เพื่อให้รับทราบถึงการเชื่อมโยงของสินค้าทั้งระบบหากไม่ทำตามจะถูกปรับไม่เกิน 20,000 บาท จำคุกไม่เกิน 1 ปี และหากแจ้งขึ้นทะเบียนล่าช้าก็ถูกปรับวันละ 2,000 บาท นอกจากนี้ ภายในสัปดาห์นี้กระทรวงก็จะเรียกผู้ผลิตอาหารสัตว์มาหารือเพื่อขอความร่วมมือในการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และจุดรับซื้อ เพื่อรองรับผลผลิตที่จะออกมาในช่วงปลายเดือนส.ค.นี้ โดยคาดว่าผลผลิตทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 4.5 ล้านตัน

ส่วนมันสำปะหลังที่ประชุม ให้ขึ้นทะเบียนพ่อค้าคนกลางที่รับซื้อหรือมีมันเส้นครอบครอง 15 ตัน หรือมันสด 45 ตัน ต้องขึ้นทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ เช่นกันเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาราคาและผลผลิตทั้งระบบมีการเชื่อมต่อถึงภาคปศุสัตว์

ขณะที่ปาล์มน้ำมันคณะกรรมการก็มีกำหนดให้มีการรับซื้อทะลายปาล์มสดที่มีเปอร์เซ็นต์น้ำมัน 18% ขึ้นไป หากมีเปอร์เซ็นต์ที่มากน้อยกว่านี้ก็ให้บวกลบไปเปอร์เซ็นต์ละ 30 สตางค์ และให้ผู้ประกอบการผู้รับซื้อขายแสดงป้ายราคารับซื้อที่ชัดเจน และห้ามแสดงราคาปาล์มร่วง หากฝ่าฝืนจะถูกลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับเกิน 1 แสนบาท

เนื่องจากการหากมีการแสดงราคารับซื้อลูกปาล์มร่วงก็เท่ากับเป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรผลิตปาล์มน้ำมันที่ไม่ได้คุณภาพออกมาขาย และมีเปอร์เซ็นต์น้ำมันต่ำ ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพของน้ำมันปาล์มของไทยในภาพรวมโดยเปอร์เซ็นต์น้ำมันที่เพิ่มขึ้นเพียง 1% มีมูลค่าสูงกว่า 10,000 ล้านบาท หากเกษตรกรสามารถผลิตปาล์มคุณภาพสูงขึ้นก็จะส่งผลดีต่อเกษตรกรเอง และก็เป็นการดำเนินการตามประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซียซึ่งทั้งสองประเทศเป็นผู้ผลิตปาล์มน้ำมันรายใหญ่ที่มีคุณภาพของโลก

ที่มา : ข่าวสด ออนไลน์ 7 ส.ค. 2560

 

“นันทวัลย์” ลงพื้นที่ จ.กาญจนบุรี ติดตามโครงการเพาะปลูกมันสำปะหลังแปลงใหญ่

“นันทวัลย์” ลงพื้นที่ จ.กาญจนบุรี ติดตามความคืบหน้าการผลักดันให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังรวมตัวเพาะปลูกมันสำปะหลังแปลงใหญ่เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ พร้อมเข้าเยี่ยมชมการผลิตสินค้าแปรรูปจากข้าวของกลุ่มสตรีอาสาพัฒนาเกษตรทุ่งสมอ

 

 

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมากรมฯ ได้ลงพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีเพื่อติดตามงานการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก และการดูแลเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ตามนโยบายรัฐบาลและนโยบายที่ได้รับมอบหมายจากนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่กำชับให้ผู้บริหารลงพื้นที่ทำงานใกล้ชิดประชาชน เพื่อรับทราบปัญหาและหาแนวทางแก้ไข
       
โดยในการติดตามความคืบหน้าโครงการมันสำปะหลังแปลงใหญ่ ได้พบปะกับเกษตรกรแปลงมันสำปะหลังในระบบเกษตรแปลงใหญ่ ที่ ต.หนองโรง อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี โดยเป็นการไปติดตามความคืบหน้านโยบายการส่งเสริมให้เกษตรกรรวมตัวกันเพาะปลูกมันสำปะหลังแปลงใหญ่ เพื่อลดต้นทุน และมีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะรัฐจะเข้าไปช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิต และจัดหาตลาดรองรับให้ ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนลดลง และขายผลผลิตได้ราคาดีขึ้น ซึ่งกรมฯ ได้ทำการเชื่อมโยงผลผลิตของเกษตรกรกับโรงแป้ง เพื่อให้เข้ามารับซื้อผลผลิตตลอดทั้งฤดูกาลแล้ว
       
ทั้งนี้ ปัจจุบันเกษตรกรกลุ่มนี้ มีสมาชิก 83 ราย พื้นที่เพาะปลูก 1,150 ไร่ คาดว่าจะมีผลผลิตมันสำปะหลังรวม 5,750 ตัน/ปี และมีเป้าหมายงาน คือ เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ลดต้นทุนการผลิตจาก 4,500 บาท/ไร่ เป็น 3,600 บาท/ไร่ ในฤดูการผลิตปี 2560
       
นางนันทวัลย์กล่าวว่า กรมฯ ยังได้เยี่ยมชมการผลิตสินค้าแปรรูปจากข้าวของกลุ่มสตรีอาสาพัฒนาเกษตรทุ่งสมอ ต.ทุ่งสมอ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี เพื่อติดตามความคืบหน้า หลังจากที่กรมฯ ได้เข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรรวมตัวกันในการเพาะปลูก ผลิต และจำหน่ายให้กันเองภายในกลุ่ม และขยายสู่นอกกลุ่ม เพื่อสร้างรายได้และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ซึ่งปัจจุบันกลุ่มฯ ได้มีการรวมตัวกันจัดตั้งโรงสีชุมชนเพื่อผลิตข้าวกล้องหอมมะลิ ข้าวมันปู ข้าวหอมนิลออกจำหน่ายภายใต้ชื่อ “ทุ่งสมอ” เพื่อนำออกจำหน่าย โดยใช้ข้าวจากสมาชิกมาทำ และรับซื้อในราคาที่สูงกว่าปกติ ทำให้สมาชิกมีรายได้สูงขึ้น   

 

ที่มา : Manager Online 6 ส.ค. 2560

 






Powered by Allweb Technology.