Company Logo





พยากรณ์อากาศ

ประกาศคณะทำงานระบายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังคงเหลือในสต็อกของรัฐบาล เรื่อง การจำหน่ายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในสต็อกของรัฐบาลเป็นการทั่วไป ครั้งที่ 1/2560

 

วัน เวลา และสถานที่ยื่นซอง 
        - ยื่นซองเอกสารคุณสมบัติ วันที่ 19 กรกฎาคม 2560 เวลา 08.30 ถึง 11.00 น. 
        - ประกาศรายชื่อผู้เสนอซื้อที่มีคุณสมบัติครบถ้วน วันที่ 21 กรกฎาคม 2560 เวลา 09.00 น. (ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้เสนอซื้อที่มีคุณสมบัติครบถ้วนล่วงหน้าได้ทางเว็บไซต์ www.dft.go.th) 
        - ยื่นซองเสนอซื้อ วันที่ 21 กรกฎาคม 2560 ตั้งแต่เวลา 09.00 ถึง 10.30 น. 
        - การเปิดซองเสนอซื้อ วันที่ 21 กรกฎาคม 2560 ตั้งแต่เวลา 10.30 น. เป็นต้นไป 

สถานที่ ยื่นซองเอกสารคุณสมบัติ, ยื่นซองเสนอซื้อ, การเปิดซองเสนอซื้อ 
            ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 3 อาคารกองมาตรฐานสินค้านำเข้าส่งออก กรมการค้าต่างประเทศ (จังหวัดนนทบุรี) 

การรับฟังคำชี้แจง/ขอรายละเอียดเพิ่มเติม 
            วันที่ 14 กรกฎาคม2560 เวลา 10.00 น. ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 3 อาคารกองมาตรฐานสินค้านำเข้าส่งออก กรมการค้าต่างประเทศ (จังหวัดนนทบุรี) ผู้สนใจสามารถขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองบริหารการค้าสินค้าทั่วไป กรมการค้าต่างประเทศ ชั้น 10 โทรศัพท์ 0-2547-5123 หรือ สายด่วน 1385

ดาวน์โหลดรายละเอียด>>>>>>

ที่มา : กรมการค้าต่างประเทศ

ไฮโดรเจลจากแป้งมันสำปะหลัง: สารช่วยแตกตัวสำหรับผลิตยาเม็ด

ฮโดรเจล (Hydrogel) คือวัสดุที่ประกอบด้วยพอลิเมอร์ที่ชอบน้ำ (hydrophilic) ซึ่งมีพันธะหรือแรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลทำให้เกิดเป็นโครงสร้างร่างแหสามมิติ มีคุณสมบัติพิเศษในการดูดซับน้ำและกักเก็บน้ำไว้ในโครงสร้างได้ดี โดยเมื่อดูดซับน้ำแล้ว โครงสร้างร่างแหสามมิติของไฮโดรเจลจะไม่ละลายน้ำ แต่จะบวมพองและสามารถคงรูปร่างเดิมไว้ได้ เช่น เม็ดเจล (bead), เส้นใย (fiber) หรือแผ่นเจล (patch) เป็นต้น ในช่วงที่ผ่านมาไฮโดรเจลได้รับความสนใจมากในการพัฒนาและประยุกต์ใช้ในงานด้านเภสัชศาสตร์ เนื่องจากมีคุณสมบัติหลายประการที่เหมาะสมกับการนำไปใช้เป็นวัสดุนำส่งและปลดปล่อยตัวยาหรือสารออกฤทธิ์ โดยโครงสร้างไฮโดรเจลมีรูพรุนกระจายตัวอยู่ทั่ว ทำให้สามารถดูดซับและกักเก็บตัวยาไว้ในโครงข่ายสามมิติของเจล ซึ่งสามารถปลดปล่อยตัวยาออกมาในภายหลังได้ โดยสามารถควบคุมกลไกการปลดปล่อยตัวยาให้เกิดขึ้นเฉพาะที่อวัยวะเป้าหมายด้วยอัตราที่ควบคุมได้จากการออกแบบโครงสร้างโมเลกุลของพอลิเมอร์ที่ใช้ในการผลิตไฮโดรเจล โดยไฮโดรเจลจะเกิดการพองตัวและเริ่มปลดปล่อยตัวยาเมื่อได้รับการกระตุ้นจากสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม

ไฮโดรเจลส่วนใหญ่ผลิตจากพอลิเมอร์สังเคราะห์ที่ผลิตขึ้นจากวัตถุดิบที่ได้จากแหล่งปิโตรเคมี ซึ่งนับวันปริมาณของทรัพยากรในกลุ่มนี้ก็มีแต่จะลดลงไปเรื่อยๆ นอกจากนี้สารตั้งต้นในการผลิตพอลิเมอร์สังเคราะห์เหล่านี้ล้วนแต่เป็นสารที่มีความเป็นพิษสูง แม้ว่าเมื่อนำมาผ่านกระบวนการสังเคราะห์ให้อยู่ในรูปของพอลิเมอร์แล้วจะไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษก็ตาม แต่สารตกค้างที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในผลิตภัณฑ์ก็ถือเป็นประเด็นที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ ดังนั้นงานวิจัยส่วนใหญ่จึงมุ่งเน้นเพื่อเสาะหาและพัฒนากระบวนการผลิตไฮโดรเจลจากพอลิเมอร์ชีวภาพ (biopolymer) ทั้งนี้แป้งมันสำปะหลังเป็นแหล่งของพอลิเมอร์ชีวภาพที่สำคัญของประเทศไทย จัดเป็นทรัพยากรที่หมุนเวียนได้ สามารถย่อยสลายได้ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงถือเป็นวัตถุดิบที่มีศักยภาพสำหรับนำมาใช้ในการพัฒนาเพื่อผลิตไฮโดรเจล

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้พัฒนากระบวนการผลิต "ไฮโดรเจลจากแป้งมันสำปะหลัง" เพื่อนำไปใช้เป็นวัสดุนำส่งยาในงานด้านเภสัชกรรม โดยการดัดแปรโครงสร้างโมเลกุลแป้ง และสร้างเป็นไฮโดรเจลด้วยการทำปฏิกิริยากับกรดอินทรีย์ ซึ่งปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม โดยไฮโดรเจลที่พัฒนาขึ้นสามารถนำไปใช้เป็นสารช่วยแตกตัวในยาเม็ดได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในแกรนูล แคปซูล หรือผลิตภัณฑ์ในรูปแบบเม็ดอัดแข็งอื่นๆ ที่ต้องการให้เกิดการแตกตัวและปลดปล่อยสารออกฤทธิ์หรือสารสำคัญอย่างรวดเร็วได้อีกด้วย

ดร.กุลฤดี แสงสีทอง นักวิจัยห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีแปรรูปมันสำปะหลังและแป้ง ไบโอเทค กล่าวว่า "แป้งมันสำปะหลังเป็นแหล่งของพอลิเมอร์ชีวภาพที่มีศักยภาพสูงของประเทศไทยเพื่อใช้ในการพัฒนาเป็นไฮโดรเจล เนื่องจากมีปริมาณมาก มีความบริสุทธิ์สูง และมีโครงสร้างโมเลกุลที่สามารถละลายในน้ำและมีความพร้อมในการเกิดปฏิกิริยาเคมีต่างๆ ได้ดี จึงสามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างและสมบัติได้ง่าย โดยคณะวิจัยได้ดัดแปรโครงสร้างโมเลกุลแป้งมันสำปะหลังด้วยวิธีทางเคมีก่อน แล้วจึงนำแป้งดัดแปรมาทำปฏิกิริยาต่อกับกรดอินทรีย์เพื่อให้เกิดโครงสร้างไฮโดรเจล จึงถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม"

ดร.กุลฤดี กล่าวต่อไปว่า "ไฮโดรเจลที่พัฒนาได้มีลักษณะเป็นผงสีขาวนวล เมื่อสัมผัสน้ำสามารถดูดซับน้ำและพองตัวขยายขนาดได้อย่างรวดเร็ว แต่ไม่ละลายน้ำ จึงไม่เกิดสารข้นเหนียวที่เป็นอุปสรรคต่อการแตกตัวของเม็ดยา และเมื่อนำไปใช้เป็นสารช่วยแตกตัวในตำรับยาเม็ด แรงที่เกิดจากการพองตัวของไฮโดรเจลจะช่วยดันให้องค์ประกอบต่างๆ ในเม็ดยาแตกกระจายตัวออก ทำให้ตัวยาสำคัญสามารถละลายได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยให้ตัวยาถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยาเม็ดที่ผลิตโดยไฮโดรเจลที่พัฒนาขึ้นนี้ใช้เวลาการแตกตัวสั้นกว่ายาเม็ดที่ผลิตโดยใช้สารช่วยแตกตัวยิ่งยวดทางการค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งทำให้ยาหรือสารสำคัญออกฤทธิ์ได้ไวขึ้น ส่งผลให้ประสิทธิภาพการรักษาทางการแพทย์ดีขึ้นด้วย"

ปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตไฮโดรเจลจากแป้งมันสำปะหลังพร้อมถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการที่สนใจแล้ว ทั้งนี้สารช่วยแตกตัวที่ใช้ในอุตสาหกรรมยาในปัจจุบันยังจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาสูง จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง ที่มีความสนใจในการนำเทคโนโลยีไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อขยายธุรกิจต่อไป

ที่มา : RYT9 7 กรกฎาคม 2560

มทส.รณรงค์งดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว ดีเดย์วันสิ่งแวดล้อมโลก

 

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จัดโครงการ “SUT Say No Plastic Bag” ปลุกจิตสำนึกสร้างความตระหนักรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่บุคลากรและนักศึกษา จับมือร้านสะดวกซื้อภายในมหาวิทยาลัยงดให้บริการถุงพลาสติกหูหิ้ว รณรงค์เปลี่ยนมาใช้ถุงผ้าหรือให้บริการถุงพลาสติกแบบย่อยสลายง่าย เริ่มวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน 2560 หวังลดขยะพลาสติก ลดภาวะโลกร้อน พร้อมส่งเสริมนโยบายมหาวิทยาลัยเขียว-สะอาด อย่างยั่งยืน

อาจารย์ ดร.วุฒิ ด่านกิตติกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มทส. เป็นประธานเปิดโครงการ “SUT Say No Plastic Bag”พร้อมกิจกรรมปั่นจักรยานรณรงค์งดใช้ถุงพลาสติก แจกถุงผ้าบรรจุสิ่งของ ปลูกต้นไม้เพิ่มความชุ่มชื่นบริเวณอ่างเก็บน้ำสุระ 2 จำนวน 270 ต้น และกิจกรรม “คืนกล้วยไม้สู่ป่า” จำนวน 50 ต้น เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน 2560 โดยรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มทส. เผยว่า “จากการที่มหาวิทยาลัยได้มีการขยายตัวทางด้านกายภาพเพิ่มขึ้นในหลายด้าน ทั้งด้านการใช้พื้นที่ กลุ่มอาคารเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับจำนวนบุคลากร นักศึกษา และประชาชนผู้มาติดต่อประสานงานมากขึ้นทุกปี ส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะตามมาด้วย ในแต่ละวันมีปริมาณขยะจำนวน 3.50 ตัน/วัน แยกเป็นขยะประเภทพลาสติก จำนวน 1.05 ตันต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 30 และหากพิจารณาเฉพาะถุงพลาสติกหูหิ้วจากร้านสะดวกซื้อ มีประมาณการใช้ประมาณ 5,500 ใบ/วัน ซึ่งเป็นปริมาณค่อนข้างสูงและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

คณะทำงานจัดกิจกรรมรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อม มทส. จึงได้จัดโครงการ “SUT Say No Plastic Bag” เพื่อหวังลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกโดยเฉพาะถุงหูหิ้วบรรจุสิ่งของ ช่วยลดสภาวะโลกร้อนอีกทางหนึ่ง ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาใช้ถุงผ้าแทนการใช้ถุงพลาสติก ในช่วงแรกคณะทำงานฯ ได้เปิดรับบริจาคถุงผ้าหรือถุงพลาสติกที่ใช้แล้ว เพื่อนำมาให้บริการฟรีแก่ผู้ซื้อสินค้าร้านสะดวกซื้อทุกจุด พร้อมทั้ง ได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อซึ่งตั้งอยู่ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยทั้ง 10 ร้าน งดให้บริการถุงพลาสติกหูหิ้ว แต่หากผู้ซื้อต้องการใช้จะต้องบริจาคเงิน 1 บาทต่อ 1 ถุง ซึ่งเป็นถุงพลาสติกย่อยสลายได้ พร้อมนี้ คณะทำงานฯ ได้จัดทำถุงสำหรับบรรจุสิ่งของจำหน่ายในราคาต้นทุน เงินทุกบาทเข้ากองทุนสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยต่อไป คาดว่าจะสามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วจากร้านสะดวกซื้อภายในมหาวิทยาลัยได้ร้อยละ 50 และจะขยายผลเป็นร้อยละ 80 ในปีถัดไป ทั้งยังลดปริมาณขยะพลาสติก ช่วยประหยัดงบประมาณในการจัดเก็บและกำจัดขยะอีกทางหนึ่งด้วย สอดคล้องกับนโยบายมหาวิทยาลัยเขียว-สะอาด (Green and Clean University) มุ่งปลุกจิตสำนึก สร้างความตระหนักด้านรักษาสิ่งแวดล้อมของชาว มทส. อย่างยั่งยืน โดยจะเริ่มต้นในวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน 2560 นี้ เป็นต้นไป

 

ที่มา :  7 ก.ค. 2560

 

ไฟเขียวงบ2.28หมื่นลบ. ให้โครงการ9101ตามรอยเท้าพ่อ

 

"ครม." อนุมัติงบ 22,800 ล้านบาทสำหรับโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ เพื่อพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน พร้อมหนุนเงินลงทุนเริ่มต้นให้ชุมชน 9,101 แห่ง แห่งละ 2.5 ล้านบาท

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. อนุมัติโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ที่เป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายของเกษตรกรในระดับฐานราก และช่วยส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยการสนับสนุนเงินลงทุนเริ่มต้นให้กับเกษตรกรในชุมชน 9,101 แห่ง แห่งละ 2.5 ล้านบาท รวม 22,800 ล้านบาท โดยคาดการณ์จะมีเกษตรกรได้ประโยชน์ 4 ล้านคน จากจำนวนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรประมาณ 5-6 ล้านคน โดยแต่ละชุมชนจะต้องเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการอย่างน้อยชุมชนละ 500 คน 

โดยในโครงการเกษตรกรจะต้องดำเนินการ 8 โครงการ ตามเงื่อนไขที่กำหนด เช่น การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การทำปาร์มชุมชน การเลี้ยงสัตว์เล็ก การทำประมง และการปรับปรุงบำรุงดิน ซึ่งแต่ละชุมชนสามารถเลือกทำโครงการที่ต้องการได้ โดยหลังจากครม.อนุมัติ จะสามารถขับเคลื่อนงานทันทีและชุมชนจะได้รับเงินไม่เกิน 15 ก.ค. 2560 เนื่องจากขณะนี้มีคณะทำงานที่มีนายอำเภอเป็นประธาน ร่วมกับอบต.และเกษตรจังหวัดเข้ามามีส่วนในการคัดเลือกเกษตรกรที่มีรายได้น้อย และขึ้นทะเบียนไว้แล้ว 

ทั้งนี้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับค่าจ้างในการดำเนินโครงการตั้งแต่ครั้งแรกที่เข้าโครงการ โดยได้มีการกำหนดเงินค่าจ้างของเกษตรกรจะต้องไม่ต่ำกว่า 50% ของ 2.5 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นค่าบริหารจัดการ โดยหลังจากนั้นจะต้องช่วยกันบริหารโครงการให้เดินหน้าทุกแห่งให้ได้ภายใน 60 วัน ซึ่งคณะทำงานแต่ละชุมชนอาจจะตั้งกองทุนเพื่อบริหารจัดการสินค้าเกษตรที่ได้ และต่อยอดเงินลงทุนเพื่อหมุนเวียนเงินในโครงการให้เดินหน้าต่อไปได้ 

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ยืนยันโครงการนี้ ไม่ใช่โครงการแจกเงินให้กับเกษตรกรเหมือนที่ผ่านมา แต่เป็นการนำเงินลงไปเป็นทุนต่อยอดเพื่อให้เกษตรกรรู้จักเรียนรู้ ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่ม ประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือ ศพก. กว่า 882 แห่งทั่วประเทศ และพึ่งพาตัวเองอย่างยั่งยืน นับเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานรากที่ได้มากกว่าการใส่เงินลงสู่ระบบเพียงแค่ครั้งเดียว 

"เราเริ่มทำปีนี้ปีแรก เพราะไม่อยากให้เงินแบบแจกเหมือนรัฐบาลที่ผ่านๆมา ซึ่งโครงการ 9101 นี้ 9 หมายถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ(ร.9), 10 หมายถึง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร(ร.10) และ 1 หมายถึงปีที่ 1 ในรัชกาลปัจจุบัน เป็นโครงการตามรอยพ่อว่าจะทำให้การเกษตรยั่งยืนขึ้น ซึ่งเชื่อว่าเกษตรกรจะเรียนรู้ พึ่งพาตัวเองจากเงินตั้งต้นส่วนนี้ จากนั้นถ้าได้ผลผลิตล็อตนี้มา ก็ให้เขาบริหารจัดการกันเอง อาจจะตั้งกองทุนขึ้นมาบริหารสินค้าและรายได้กันเอง "พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

 

ร้อง "ประยุทธ์" เร่งแก้นำเข้าข้าวสาลี "ประพัฒน์" อัด รมว.พาณิชย์บริหารงานผิดพลาด

 

 

"ประพัฒน์" ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติเบรกแตก อัดรัฐมนตรีพาณิชย์ทำหนังสือให้แก้ไขปัญหาการนำเข้าข้าวสาลีที่สร้างความเดือดร้อนแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง ข้าวหลายครั้งกลับนิ่งเฉย ฟังแต่ผู้ประกอบการอาหารสัตว์ ชี้บริหารงานผิดพลาดอย่างร้ายแรง

จากกรณีผู้ผลิตอาหารสัตว์ในไทยมีการนำเข้าข้าวสาลีจำนวนมากมาผลิตอาหารสัตว์ ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลังและชาวนาหลายล้านคนขายผลผลิตในราคาต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ล่าสุด ชาวไร่มันสำปะหลังขายหัวมันสดได้เพียง 0.80-1.20 บาท/กก. ขณะที่ต้นทุนการผลิต 1.91 บาท/กก. ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่แห้งแล้วชาวไร่ขายได้เพียง กก.ละ 4.50-5.50 บาท ขณะที่มีต้นทุนการผลิต กก.ละ 6.81 บาท 

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ล่าสุดสภาเกษตรกรฯได้ทำหนังสือเรื่องความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ผลิตพืชเศรษฐกิจหลักของไทย ทั้งข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลังถึงนายกรัฐมนตรีแล้ว เพื่อขอให้ชะลอการนำเข้าข้าวสาลีซึ่งอยู่ในรายการสินค้าและบริการควบคุมปี 2559 ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 19 ม.ค. 2559 โดยให้มีการกำกับดูแลการนำเข้า ไม่ให้กระทบต่อราคาข้าวโพดและมันสำปะหลังในประเทศ การขอให้ผลักดันการนำผลผลิตพืชคาร์โบไฮเดรตในประเทศ ประกอบด้วยรำข้าว 1.425 ล้านตัน ปลายข้าว 2.375 ล้านตัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 4.57 ล้านตัน มันเส้น 2 ล้านตัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน 1.6 แสนตัน รวม 10.53 ล้านตันมาใช้ในการผลิตอาหารสัตว์เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคาไม่ให้ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตของเกษตรกรและเพียงพอต่อการครองชีพ และขอให้มีผู้แทนเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตพืชคาร์โบไฮเดรตร่วมในคณะทำงานวางแผนการผลิตและการตลาด วัตถุดิบอาหารสัตว์ครบวงจร เพื่อรักษาผลประโยชน์ที่อาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกพืชคาร์โบไฮเดรตในไทย

ปี 2559 อุตสาหกรรมอาหารสัตว์คาดการณ์ว่าจะผลิตอาหารสัตว์เพื่อใช้ในประเทศและส่งออก 16 ล้านตัน ต้องการพืชคาร์โบไฮเดรตเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ 50-55% ของจำนวนทั้งหมดหรือประมาณ 7-8 ล้านตัน ดังนั้น พืชคาร์โบไฮเดรตในประเทศและจากประเทศเพื่อนบ้าน 10.53 ล้านตัน จึงเพียงพอต่อการใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ แต่ในปี 2558 ที่ผ่านมา มีการนำเข้าข้าวสาลีสูงถึง 3.467 ล้านตัน และในปี 2559 เดือน ม.ค.-ก.ค.มีการนำเข้า 1.918 ล้านตัน เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2558 ที่นำเข้าเพียง 1.707 ล้านตัน นำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 12%

"เรื่องนี้ไม่เป็นธรรมมากกับสังคมไทยโดยรวม เพราะกระทรวงพาณิชย์เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการอาหารสัตว์ ทำให้ต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์อ่อนลง จากการนำเข้าข้าวสาลีจากต่างประเทศ ซึ่งมีผลทำให้เกษตรกรไทยขาดทุน ท้ายที่สุดรัฐต้องเอางบประมาณที่เป็นภาษีประชาชนทุกคนมาชดเชยเยียวยาเกษตรกรนับหมื่นล้านบาท ทั้งที่คนได้เงินได้ประโยชน์คือ ผู้ประกอบการอาหารสัตว์ที่เป็นคนรวยเพียงหยิบมือ แต่เกษตรกรล่มสลาย ทำไมรัฐไม่ปรับสมดุลการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้เหมาะสมทั้งปริมาณและช่วงเวลาที่นำเข้า" นายประพัฒน์กล่าว

ปีที่ผ่านมา นำเข้าข้าวสาลี 3.6 ล้านตันมากเกินไป ที่นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยบอกว่าจะนำเข้าไม่เกินปีที่ผ่านมา ถือว่ามากไป ส่วนจะจำกัดการนำเข้าแค่ไหน ต้องมาดูราคาข้าวโพด มันสำปะหลัง ถ้ามีผลกับราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ในประเทศ ต้องชะลอการนำเข้าและอย่านำเข้าในช่วงจังหวะที่ผลผลิตในประเทศออกสู่ตลาด ตอนที่มีการนำเข้ามาจนล้นสต๊อก ไม่ต้องซื้อวัตถุดิบในประเทศก็พอใช้อยู่แล้ว ซึ่งไทยใช้วัตถุดิบพวกแป้งปีหนึ่งประมาณ 6 ล้านตันเท่านั้น ล่าสุดชาวไร่ข้าวโพดที่ลำปางขายได้ กก.ละ 3-4 บาทเท่านั้น

ส่วนประเด็นที่สภาเกษตรกรฯจะขอเจรจากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์นั้น นายประพัฒน์กล่าวว่า รัฐมนตรีพาณิชย์ไม่เคยรับฟัง ทำหนังสือไปหาหลายครั้งก็ไม่ตอบกลับมา จนต้องทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีแทน แต่ถ้าท่านนายกรัฐมนตรีไม่ฟัง ก็สุดแล้วแต่เกษตรกร หมดหน้าที่ของสภาเกษตรกรแห่งชาติแล้ว สภาเกษตรกรฯไม่มีหน้าที่เอาม็อบไปเคลื่อนไหว เกษตรกรจะขับเคลื่อนเองก็แล้วแต่ ผมไม่มีหน้าที่แล้ว มีแต่เอาความเดือดร้อนของเกษตรกรมารวบรวมทำเอกสารเสนอไปยังรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้อง ถ้ารัฐบาลเอาไปแก้ไขก็ขอบคุณที่ทำประโยชน์แก่ประเทศโดยรวมถ้าไม่แก้ไข ก็จะบอกเกษตรกรว่า สภาเกษตรกรฯทำหน้าที่เต็มที่แล้ว

"คนรวยมีหยิบมือเดียว แต่คนล่มสลายล้มละลายมีหลายล้านครัวเรือน รัฐบาลต้องเอาเงินงบประมาณมาเยียวยา ถ้าเป็นรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ผมเชื่อมั่นว่า เกษตรกรปิดทำเนียบ ปิดกระทรวงพาณิชย์ ปิดศาลากลางไปแล้ว เพราะเดือดร้อนกันมากตอนนี้เกษตรกรอดทนอดกลั้นเพราะเราเชื่อว่านายกรัฐมนตรีคนนี้มีความจริงใจกับประเทศนี้ ยังไม่อยากสร้างภาระให้กับท่านนายกรัฐมนตรี แต่ในส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กลับไม่ฟังเราเลย ทำหนังสือไปหาหลายครั้ง กลับไม่แก้ไข ฟังแต่ผู้ประกอบการอาหารสัตว์ที่เป็นกลุ่มทุนรายใหญ่ไม่กี่ราย ถือว่าท่านบริหารงานผิดพลาดอย่างร้ายแรง ควรที่จะปรับสมดุลการนำเข้าโดยเร็ว" นายประพัฒน์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ภายในประเทศหลายชนิด โดยสมาคมพืชไร่ชี้แจงว่า การที่ผู้ประกอบการผลิตอาหารสัตว์ได้นำเข้าวัตถุดิบข้าวสาลี ส่งผลกระทบต่อข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง เนื่องจากผู้ประกอบการผลิตอาหารสัตว์หยุดรับซื้อผลผลิตจากผู้ประกอบการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ส่งผลกระทบต่อการรับซื้อผลผลิตของเกษตรกร ส่วนผู้ประกอบการค้ามันสำปะหลัง 4 สมาคม ประกอบด้วย สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือและสมาคมแป้งมันสำปะหลังแจงว่า ส่งผลกระทบในการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรภายในประเทศประมาณ 2 ล้านตัน/ปี ขณะที่ผู้ประกอบการค้าข้าวไทยแจ้งว่า ส่งผลกระทบต่อการใช้วัตถุดิบรำข้าว ส่งผลกระทบต่อราคาข้าวที่จะรับซื้อจากเกษตรกร

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 30 มิ.ย. 60






Powered by Allweb Technology.