
เปิดฉากจี้รัฐบาล ประมูลมันเส้นแทนขายจีทูจี
วงการมันสำปะหลังสร้างประวัติศาสตร์ ได้ "สุรีย์ ยอดประจง" เป็นนายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทยคนใหม่ เป็นผู้หญิงคนแรกในรอบ 50 ปี รับไม้ต่อจาก"เสรี เด่นวรลักษณ์"ที่หมดวาระ เมื่อกลางเดือนเมษายน 2556 ที่ผ่านมา
"ฐานเศรษฐกิจ " ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษสุรีย์ ถึงภารกิจเร่งด่วน ตลอดจนมุมมองทิศทางสถานการณ์การผลิตและส่งออกมันสำปะหลังในปี 2556 ที่ต้องเผชิญความท้าทาย ทั้งจากปัจจัยภายใน และภายนอกประเทศ
++ 2 ภารกิจเร่งด่วน
หลังจากรับตำแหน่งแล้วมีภารกิจที่ต้องติดตามอยู่ 2 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ เรื่องแรกโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ปี 2555/56 ของรัฐบาล ที่เพิ่งจบไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2556 ที่ผู้ประกอบการรับจ้างรัฐบาลแปรสภาพมันเข้าเก็บในคลัง และขณะนี้อยู่ในช่วงการขนย้าย ทั้งมันเส้นและแป้งมันซึ่งก็ยังมีปัญหาอยู่ เพราะคลังในโครงการรับจำนำมีไม่เพียงพอ ซึ่งเงื่อนไขของรัฐบาลจะต้องเป็นคลังที่มีความจุไม่ต่ำกว่า 2 พันตัน
ดังนั้นทาง 4 สมาคมที่เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย ได้ขอให้รัฐบาลอนุมัติคลังเพิ่มขึ้น ล่าสุดได้รับอนุมัติทุกขนาด แต่มีผู้ประกอบการบางรายที่ยังมีปัญหา ดังนั้นหากยังไม่เรียบร้อยเราจะทำหนังสือแจ้งเฉพาะรายที่มีปัญหาเข้าไปก่อน จากการประเมินคร่าวๆ มีปริมาณมันที่ยังไม่สามารถส่งเข้าคลังได้ประมาณ 5 แสนตัน
ส่วนเรื่องที่ 2 อยากให้รัฐบาลเปิดประมูลมันเส้นแทนการขายแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจี เพราะปัจจุบันมันสำปะหลังในตลาดขาดแคลนมาก จากการที่รัฐบาลเปิดโครงการรับจำนำมา 2 ปีติดต่อกัน ซึ่งจากการประเมินโครงการแทรกแซงหรือรับจำนำมันสำปะหลังปี 2554/55 ในส่วนของมันเส้นคาดว่าจะมีปริมาณ 2.4 ล้านตัน แป้งมันจำนวน 5.6 แสนตัน ล่าสุดคาดจะเหลือมันเส้นในคลัง จำนวน 6 แสนตันจากที่ระบายไปแล้ว ส่วนแป้งมันไม่ทราบปริมาณที่แน่นอน
ขณะที่โครงการรับจำนำมันสำปะหลังในปี 2555/56 คาดจะมีผลผลิตมันเส้น 2.25 ล้านตัน และแป้งมัน จำนวน 6 แสนตัน ทางสมาคมกำลังทำเรื่องขอเข้าพบคุณบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคุณวัชรี วิมุกตายนปลัดกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอให้เปิดประมูลมันในสต๊อกขายให้กับภาคเอกชนในเร็วๆ นี้
"ในปีที่ผ่านมารัฐบาลได้นำมันเส้นในสต๊อกไปขายแบบจีทูจี ในราคามิตรภาพได้ราคาต่ำ เพราะรัฐบาลไม่ใช่พ่อค้า ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเอกชนดีกว่า ไม่ควรทำธุรกิจแข่ง ซึ่งหากรัฐบาลนำสินค้าเหล่านี้ไปเปิดตลาดใหม่ เราจะไม่เกิดความรู้สึกใดๆ ทั้งสิ้น ยิ่งมีกำไรยิ่งดี แต่ที่ผ่านมารัฐบาลขายให้กับตลาดที่เป็นตลาดเดียวกับผู้ส่งออก"
++++เสนอจ้างผลิตอัดมันเม็ด
เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2556 บริษัท Xiamen C&D Inc. รัฐวิสาหกิจจีน ได้นำคณะผู้แทนโรงงานผลิตอาหารสัตว์จีนเยือนประเทศไทยกว่า 10 บริษัท เพื่อศึกษาดูงานการใช้มันสำปะหลังอัดเม็ด ในการพัฒนาปศุสัตว์และผลิตอาหารสัตว์ในประเทศจีนที่บริษัทหนึ่งมีกำลังผลิตอาหารสัตว์ ถึง 16 ล้านตัน เท่ากับกำลังการผลิตโรงงานอาหารสัตว์ในประเทศไทยรวมกัน และได้เข้าพบคุณทิฆัมพร นาทวรทัต รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องข้าวและมันสำปะหลัง เพื่อขอซื้อมันเม็ดจากรัฐบาลไทย ซึ่งถ้าออกมาในรูปแบบนี้ในส่วนของผู้ประกอบการเห็นด้วย เพราะอย่างน้อยจะต้องจ้างเอกชนแปรรูปเป็นมันอัดเม็ด
สำหรับกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทย ณ ปัจจุบันของ 4 สมาคม แยกเป็นโรงแป้งทั่วประเทศ 100 กว่าโรง โรงมันเส้นกว่า 500 โรง ทำให้วัตถุดิบมันสำปะหลังในประเทศไม่เพียงพอในการแปรรูปส่งออก จำเป็นต้องนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่ปัจจุบันสามารถนำเข้าได้เฉพาะมันสับมือเท่านั้น เพราะรัฐบาลไทยกลัวจะมีมันเส้นจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสวมสิทธิ์ในโครงการรับจำนำ ยิ่งทำให้ผู้ส่งออกไทยลำบาก ทั้งต้นทุนสูงจากโครงการรับจำนำ ครั้นจะนำเข้ามาส่งออก รัฐบาลก็ตั้งป้อมกำแพงอีก
"ราคาต้นทุนหัวมันสำปะหลังไทย จากการประเมินของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กิโลกรัมละ 2 บาท ราคารับจำนำมันสำปะหลังสดเชื้อแป้ง 25% กิโลกรัมละ 2.50 บาท และปรับเพิ่มขึ้นเดือนละ 0.05 บาท จนสิ้นสุดโครงการในเดือน มีนาคม 2556 ราคาขายเอฟโอบี มันเส้นไทย อยู่ที่ 245 ตันดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ตลาดจีนรับซื้อได้ที่ 230 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนหัวมันสับหากส่งออกจากราคาขายอยู่ 250 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เวียดนามที่เข้าไปตั้งโต๊ะรับซื้อหัวมันสับในกัมพูชาไปขายราคาเอฟโอบี ตันละ 238 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ซึ่งจากเชื้อแป้งที่สูงกว่าไทยควรจะขายราคาสูงกว่าสินค้าไทย แต่ก็มาดัมพ์ราคา"
++ส่งออกสาหัส หั่นเป้าลง
ในปีนี้ผู้ส่งออกจะต้องเผชิญอุปสรรคหลายด้าน ทั้งเงินบาทแข็งค่ากระทบความสามารถในการแข่งขัน สภาวะเศรษฐกิจโลกยังไม่กระเตื้อง และปัจจัยผู้นำเข้า ประเทศจีน รายใหญ่ นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำ ยิ่งทำให้ความต้องการมันเส้นลดลงไป เพราะนโยบายของรัฐบาลใหม่จีนในเรื่องการรับรองผู้มาเยือนจะไม่มีการให้ของขวัญ และไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
ดังนั้นจึงประเมินว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยในปี 2556 จะอยู่ที่ประมาณ 7.9 ล้านตัน ลดลงจากปีที่แล้ว 0.43% มูลค่า 8.4 หมื่นล้านบาท ลดลง 0.62% โดยแบ่งเป็นมันเส้น/มันอัดเม็ด คาดว่าจะส่งออกปริมาณ 4.8 ล้านตัน มูลค่า 3.4 หมื่นล้านบาท คาดว่าปีนี้จะลดทั้งปริมาณและมูลค่าโดยเฉลี่ย 1% ส่วนแป้งดิบ คาดว่าจะส่งออก 2.25 ล้านตัน มูลค่า 3.1 หมื่นล้านบาท เพิ่มปริมาณและมูลค่าโดยเฉลี่ยไม่ถึง 2% ส่วนแป้งแปรรูป คาดว่าจะส่งออกได้ 8.5 แสนตัน เพิ่มจากปีที่แล้วที่ส่งออกได้ 8.4 แสนตัน เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.49%
สอดคล้องกับผลผลิตที่คณะสำรวจประกอบด้วย 4 สมาคม รวมทั้งหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ได้สำรวจ 49 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ที่เป็นแหล่งปลูกมันสำปะหลังหลักได้ข้อสรุปว่า ฤดูการผลิตในปี 2555/56 คาดว่าจะมีพื้นที่เก็บเกี่ยวรวมทั้งสิ้น 7.905 ล้านไร่ ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ประมาณ 3.485 ตัน และผลผลิตรวมประมาณ 27.547 ล้านตัน เมื่อเปรียบเทียบปริมาณผลผลิตในปี 2554/55 ซึ่งมีพื้นที่เก็บเกี่ยว 7.911 ล้านไร่ ผลผลิตเฉลี่ย ต่อไร่ 3.362 ตัน และผลผลิตรวม 26.601 ล้านตัน พื้นที่เก็บเกี่ยวลดลง 0.08 % ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้น 3.66 % และผลผลิตรวมเพิ่มขึ้น 3.56 %
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,842 วันที่ 9-11 พฤษภาคม พ.ศ. 2556
เร่งโซนนิ่งพืชเศรษฐกิจ ปศุสัตว์ ประมง พร้อมสร้างความเข้าใจเกษตรกรในพื้นที่
ฉลอง เทพวิทักษ์กิจ
จากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศเขตความเหมาะสมในการปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด ได้แก่ ข้าว อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ล่าสุดได้ ประกาศเขตเหมาะสมในการเลี้ยงปศุสัตว์ เช่น โคเนื้อ โคนม ไก่ไข่ ไก่เนื้อ และสุกร อีกทั้ง กำลังจะมีการประกาศด้านประมงเพิ่มอีก 3 ชนิด คือ กุ้งขาว ปลานิล กุ้งก้ามกาม นอกจากนี้ ในเดือนเมษายนจะประกาศด้านพืชเพิ่ม 2 ชนิด คือ ลำไย และสับปะรด ส่วนในเดือนพฤษภาคม จะประกาศเพิ่มอีก 5 ชนิด ได้แก่ มังคุด ทุเรียน เงาะ มะพร้าว กาแฟ
นายฉลอง เทพวิทักษ์กิจ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การประกาศเขตความเหมะสมหรือโซนนิ่ง นั้น เจตนารมณ์สูงสุดของรัฐบาลคือการปรับความสมดุลระหว่างความต้องการ (อุปสงค์) ให้สมดุลกับปริมาณผลผลิต (อุปทาน) ของผลผลิตพืชชนิดนั้น เพื่อเกษตรกรจะขายสินค้าได้ราคาดีไม่มีผลผลิตส่วนเกิน โดยขณะนี้ได้แจ้งข้อมูลดังกล่าวผ่านกระทรวงมหาดไทยไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดแล้ว โดยแต่ละ จังหวัดจะต้องจัดทำแผนการผลิตระดับจังหวัดให้สอดคล้องกับเขตความเหมาะสมทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ ซึ่งแต่ละจังหวัดจะต้องมีคณะกรรมการในการพิจารณาเขตความเหมาะสมที่กระทรวงเกษตรฯ ประกาศ รวมทั้งคิดโครงการขึ้นมา 2 ส่วน คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในเขตที่เหมาะสม และการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตที่ไม่เหมาะสมมาผลิตสินค้าชนิดอื่นที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ในจังหวัดนั้นๆ ทั้งนี้หลังจากทุกจังหวัดทำโครงการเสร็จแล้วข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งกลับมายังกระทรวงเกษตรฯ ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 นี้
นายฉลอง กล่าวอีกว่า การประกาศเขตความเหมาะสมนั้น นอกจากต้องการลดพื้นที่ปลูกพืชที่มีปริมาณมากลง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการตลาดแล้ว ยังต้องการใช้ให้เห็นว่า ถ้าเกษตรกรปลูกพืชในพื้นที่เหมาะสมจะมีผลผลิตที่ดีต้นทุนต่ำ แต่หากปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสมน้อยหรือไม่เหมาะสมจะมีผลผลิตต่ำ และต้นทุนสูง ดังนั้น เราจึงจะมีโครงการและกิจกรรมต่างๆ ในการทำความเข้าใจกับเกษตรกรในเรื่องของการปรับเปลี่ยนอาชีพ เช่น การให้ความรู้ด้านการตลาด การลงทุน ปัจจัยต่างๆ ที่เป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดให้เกษตรกร เพื่อจูงใจให้เกิดการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เหมาะสมตามที่กำหนดไว้ รวมทั้งเข้าไปส่งเสริมไปทำปศุสัตว์ หรือประมงแทน นอกจากนี้ หากเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่เหมาะสมอยู่แล้วต้องการลดพื้นที่ปลูก หรือต้องการเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น ที่มีรายได้ดีกว่าเดิม เช่น เขตที่เหมาะสมในการปลูกข้าวในพื้นที่ลุ่ม ถ้าต้องการทำประมงที่รายได้ดีกว่า ก็สามารถดำเนินการได้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเกษตรกรเอง
ทั้งนี้ เราไม่ได้ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของเกษตรกรในการเลือกปลูกพืชแต่ละชนิด ช่วงแรกอาจจะมีปัญหาบ้าง แต่หลังจากดำเนินการไปได้ระยะหนึ่งแล้วเกษตรกรจะเริ่มเห็นตัวอย่างการปรับเปลี่ยนของเกษตรกรรายอื่น ที่มีรายได้ดีกว่าเดิม เชื่อว่าจะมีเกษตรกรเข้ามาร่วมโครงการกับเรามากขึ้นในอนาคต
"อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการประกาศโซนนิ่งการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และทำประมงออกมา ขอยืนยันว่าเกษตรกรที่อยู่นอกเขต จะยังคงได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนเดิมอย่างที่เคยได้รับ เช่น หากเกษตรกรที่อยู่นอกเขตประกาศประสบภัยพิบัติ ต่างๆ รัฐบาลจะยังคงนอกเขตประกาศก็ยังจำนำข้าวได้เหมือนเดิมเช่นกัน" นายฉลอง กล่าวทิ้งท้าย
หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ -- อังคารที่ 16 เมษายน 2556
สั่งอคส.แจ้งความโรงแป้ง-ลานมัน 16 แห่ง หลังตรวจสอบพบมันหาย 10%
วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์
สั่งอคส.แจ้งความโรงแป้ง-ลานมัน 16 แห่ง หลังตรวจสอบพบมันหาย 10% ขู่ขึ้นแบล็กลิสต์หากพบทุจริตจริง ระบุไม่ขยายเวลารับจำนำเพราะราคาตลาดน่าพอใจ
น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย หลังลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการรับจำนำมันสำปะหลังประจำ ปี2555/56 เมื่อเร็ว ๆ นี้ พบว่ามีลานมันและโรงแป้งที่เข้าร่วมโครงการรวม 16 แห่ง มีปริมาณมันสำปะหลังไม่ครบตามจำนวนรับจำนำที่แจ้งไว้ โดยต่ำกว่าที่แจ้งถึง 10% ซึ่งมีแนวโน้มเกิดการทุจริตขึ้น จึงได้ทำหนังสือไปยังองค์การคลังสินค้า (อคส.) เพื่อให้แจ้งความดำเนินคดีต่อไป และหากผลการสืบสวนสอบสวนพบว่ามีการทุจริตจริงก็จะไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการรับจำนำอีกหากมีโครงการในครั้งต่อไป
สำหรับการรับจำนำมันสำปะหลังประจำปี 2555/56 นั้น มีโรงแป้งที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 55 ราย ลานมันจำนวน 602 ราย จะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 31 มีนาคมนี้ ปัจจุบันมีมันสำปะหลังเข้าร่วมโครงการประมาณ 8.57 ล้านตัน เงินที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) จ่ายให้เกษตรกรไปแล้วจำนวน 16.93 ล้านบาท คาดเมื่อสิ้นสุดโครงการจะมีมันเข้าโครงการปริมาณกว่า 10 ล้านตัน
ส่วนกรณีที่ทางเกษตรกรต้องการให้ขยายเวลาการรับจำนำออกไปอีกนั้น คงจะไม่ขยายเวลาอีก เพราะถือว่าขณะนี้ราคามันสำปะหลังในตลาดมีราคาที่ดีกว่าราคาจำนำที่ 2.70 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับเปอร์เซ็นต์แป้งที่ 25% โดยขณะนี้บางพื้นที่เริ่มปิดรับจำนำแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่อีสานตอนบน
“ราคาหัวมันสดในตลาดเวลานี้เฉลี่ยที่ 2.70 บาทต่อกิโลกรัม มันเส้นกิโลกรัมละ 7 บาท และแป้งมันกิโลกรัมละ 12 บาท สาเหตุที่มันราคาดีในขณะนี้ ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากผลผลิตที่ลดต่ำลง ความต้องการตลาดทั้งในและต่างประเทศสูง โดยเฉพาะจีน ที่ต้องการซื้อมันสำปะหลังจากไทยค่อนข้างมาก เพราะก่อนหน้านี้ได้นำเข้ามันจากกัมพูชาแต่ได้มันที่คุณภาพต่ำ ชิ้นใหญ่ มีสิ่งปลอมปนมาก ทำให้ไม่เป็นที่น่าพอใจจึงหันมาสั่งนำเข้ามันจากไทย และเมื่อสิ้นสุดโครงการคาดว่ากรมการค้าต่างประเทศ (คต.) จะกำหนดแผนการระบายมันสำปะหลังในโครงการอย่างมีระบบ เหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป”
ที่มา : หนังสือพิพม์ฐานเศษฐกิจ วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม 2013
ก.เกษตรฯ เตรียมประกาศโซนนิ่งพืชเกษตรอีก 7 ชนิดภายใน 2 เดือน
ยุคล ลิ้มแหลมทอง
นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดการประชุมสัมมนา เรื่อง "การขับเคลื่อนนโยบายการจัดการพื้นที่เกษตรกรรม หรือโซนนิ่ง"ว่า แนวทางในการดำเนินงานเรื่องโซนนิ่งที่กระทรวงเกษตรฯ ได้ออกประกาศกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับการผลิตแล้ว 6 ชนิดพืช ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลังยางพาราปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และการผลิตสินค้าปศุสัตว์ 5 ชนิดได้แก่ โคเนื้อ โคนม สุกร ไก่เนื้อ และไก่ไข่ และภายใน 2 เดือนนี้จะประกาศอีก 7 ชนิดพืช ซึ่งได้แจ้งข้อมูลดังกล่าวผ่านกระทรวงมหาดไทยไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดแล้ว
รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า สิ่งที่กระทรวงเกษตรฯ ขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนโซนนิ่งจังหวัดและมีเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเป็นฝ่ายเลขานุการ คือ การเข้าไปตรวจสอบข้อมูลการผลิตสินค้าเกษตรในพื้นที่ส่งกลับมายังกระทรวงเกษตรฯภายในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ ประกอบด้วย
1. ตรวจสอบพื้นที่ทำการเกษตรที่ได้เป็นประกาศเป็นพื้นที่เหมาะสมสำหรับพืช ปศุสัตว์ และประมง เพื่อทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยใช้ข้อมูลการตลาดเป็นตัวกำหนดปริมาณผลผลิตให้สอดคล้องกัน ทั้งการบริโภคในพื้นที่ การแปรรูป การเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม และการส่งออก ว่าในแต่ละพื้นที่นั้นต้องการการสนับสนุนจากรัฐในด้านใดบ้าง เช่น พันธุ์ แหล่งน้ำ ปุ๋ย ที่ดินทำกิน เทคโนโลยี การคมนาคม หรือทุน เป็นต้น
2. ตรวจสอบพื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมหรือเหมาะสมน้อย เพื่อพิจารณาแนวทางในการส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนอาชีพหรือการทำการเกษตรชนิดอื่นที่มีความเหมาะสมกว่า หรือต้องการให้ภาครัฐให้การสนับสนุนอย่างไร และ
3. ตรวจสอบพื้นที่ทำการเกษตรกรรมที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ หรือยู่ในพื้นที่ป่าว่ามีอยู่จำนวนเท่าใด และจะจัดการอย่างไร รวมทั้งเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา ทั้งเรื่องที่ดินทำกินและการจัดการผลผลิตการเกษตรจากพื้นที่ดังกล่าวด้วย
ข้อมูลจากทั้ง 3 พื้นที่ดังกล่าว เมื่อทางจังหวัดได้รายงานเข้ามาแล้ว กระทรวงเกษตรฯ จะรวบรวมเพื่อเสนอรัฐบาลในการกำหนดนโยบายหรือโครงการในการสนับสนุนการพัฒนาการผลิต หรือปรับเปลี่ยนการทำการเกษตรของประเทศให้เหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ โดยยึดตลาดเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาดได้ในระยะยาว
"การเรียกประชุมตเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ครั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจและทิศทางในการขับเคลื่อนนโยบายโซนนิ่งให้ตรงกัน เนื่องจากการที่จะปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกหรือการทำการเกษตรนั้น คนในพื้นที่ซึ่งใกล้ชิดกับเกษตรกรที่สุดจะต้องเป็นผู้รวบรวมข้อมูลความต้องการจากพื้นที่เสนอต่อรัฐบาลในการเข้าไปให้ความช่วยเหลือ รวมถึงการปรับระบบความคิดของเกษตรกรสู่การเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ที่รู้จักคิดเป็น และวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับการตลาดด้วย
เจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ จะเป็นเครื่องมือสำคัญให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อดำเนินการในเรื่องโซนนิ่งให้เกิดขึ้นให้ได้ เนื่องจากที่ผ่านมาการจัดการโซนนิ่งไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรเนื่องจากเป็นการสั่งการจากส่วนกลางไปในพื้นที่ แต่ไม่ได้รับข้อมูลความต้องการจากพื้นที่มาเป็นนโยบายการปฏิบัติ ซึ่งในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้ นายกรัฐมนตรีจะประชุมคอนเฟอร์เรนซ์ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ก็จะเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่เจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ ในการร่วมดำเนินการดังกล่าว" นายยุคล กล่าว
ที่มา : ข่าวเศรษฐกิจ สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) จันทร์ที่ 18 มีนาคม 2556
นายกฯ เปิดโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม แห่งแรกในไทย ที่โคราช สาวใหญ่ถอดเสื้อประท้วง
เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 12 กุมภาพันธ์ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เปิดโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม เวสต์ ห้วยบง 2 และ เวสต์ห้วยบง 3 ซึ่งบริษัทเค อาร์ทู จำกัด และบริษัท เฟิร์ส โคราช วินด์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินโครงการติดตั้งกังหันลมจำนวน 90 ต้น บนพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ ในตำบลห้วยบง และตำบลหนองแวง อำเภอด่านขุนทด และอำเภอเทพารักษ์ จังหวัดนครราชสีมา โดยกังหันลม 1 ต้น สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ต้นละ 2.3 เมกะวัตต์ รวมกำลังการผลิตโครงการละ 103.5 เมกะวัตต์ โดยนำไฟฟ้าที่ผลิตได้เชื่อมต่อกับจุดรับซื้อไฟฟ้าที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี เพื่อส่งต่อให้ประชาชน
หลังจากกล่าวจบนางสาว ยิ่งลักษณ์ ได้เดินทักทายกับราษฎรในพื้นที่ ที่มาคอยให้การต้อนรับ โดยมีกลุ่มคนเสื้อแดงจ.นครราชสีมา เดินทางมาให้กำลังใจ พร้อมกับเสียงร้องตะโกนว่า "ยิ่งลักษณ์ สู้ๆ" ตลอดทาง ในขณะเดียวกัน ได้มี หญิงสาวผู้หนึ่งนุ่งกางเกงยีนสีกรมท่า สวมเสื้อยืดโปโล สีฟ้าอ่อน ได้ถอดเสื้อออก เหลือแต่เสื้อชั้นในเพื่อเรียกร้องความสนใจ ในมือถือเอกสาร โครงการจำนำมันสำปะหลัง ปากได้ร้องตะโกนว่าว่าต้องการส่งเอกสารการทุจริตโครงการรับจำนำมันสำปะหลัง เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงนอกเครื่องแบบจำนวน 3 คน ได้ควบคุมตัวออกไปอย่างทุลักทุเล และสวมเสื้อผ้าให้เรียบร้อย
ทั้งนี้ หญิงคนดังกล่าว ระบุว่า เกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลัง ไม่ได้รับความเป็นธรรม จากโรงงานแป้งมันสำปะหลังที่เข้าร่วมโครงการ โดยได้ โกงเกษตรกร เช่น หัวมันสด 5 ตัน โรงแป้งมันจะหักดิน/สิ่งเจือปน หรือที่เรียกว่าหักเปอร์เซ็นมันสำปะหลัง ไป 1ตันครึ่ง เหลือ 3ตันครึ่ง ชาวบ้านจะเหลืออะไร เอามันสำปะหลังไปลานมันหรือโรงแป้ง ต้องค้างวันค้างคืน จนเหี่ยวน้ำหนักมันจึงลด
"เกษตรกรมีแต่ตายเพราะถูกโกงทุกวิถีทาง ตนเองชื่นชมโครงการรับจำนำมันสำปะหลังของรัฐบาลดี แต่โรงแป้งมันที่เข้าร่วมกับรัฐบาลมันโกงชาวบ้าน" หญิงสาวคนดังกล่าวระบุ
จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงได้ควบคุมตัวหญิงที่ถอดเสื้อประท้วงไปสงบสติอารมณ์ที่ สภ.หินดาด โดยมี พล.ต.ต.องอาจ ผิวเรืองนนท์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา และ พ.ต.ท.นิติพงศ์ ติวาชัยวิรัตน์ สวญ.สภ.หินดาด ช่วยกันกล่อม และทราบชื่อภายหลังคือน.ส.พัชริดา กีรตินพดล อายุ 42 ปี อยู่บ้านเลขที่ 185 หมู่ 12 ต.หนองกราด อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ซึ่ง น.ส.พัชริดา เคยเดินทางไปร้องเรียนเรื่องดังกล่าว ที่ข้างทำเนียบรัฐบาลมาครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อวันที่ 25 มกราคม ทที่ผ่านมา ลักษณะ สวมเสื้อชั้นในตัวเดียวเช่นกัน หลังจากน.ส.พัชริดา อารมณ์ดีขึ้น ทางเจ้าหน้าที่จึงให้พนักงานสอบถามเพื่อหาข้อเท็จจริง พร้อมทั้งได้แนะนำให้น.ส.พัชริดา ร้องเรียนตามขั้นตอนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นผู้ว่าราชการจังหวัด หรือพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา ก่อนปล่อยตัวกลับไป
ที่มา : มติชนออนไลน์ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556