
ศรีสะเกษเปิดรับจำนำมันแล้ว 17 แห่ง-มีปัญหาไร้โกดังใหญ่เก็บมันเส้น
สนิท ขาวสะอาด
จังหวัดศรีสะเกษเปิดจุดรับจำนำมันสำปะหลังตามโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ประจำปี 2555/2556 แล้วจำนวน 17 แห่ง เผยมีปัญหาไม่มีโกดังกลางขนาดใหญ่รองรับมันเส้นที่แปรสภาพแล้ว
วันนี้ (15 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมสำนักงานพาณิชย์จังหวัดศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายสนิท ขาวสะอาด รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ประจำปี 2555/2556
ทั้งนี้ เพื่อพิจารณารับรองลานมันจำนวน 19 แห่ง โรงแป้งจำนวน 1 แห่ง และคลังสินค้าจำนวน 3 แห่ง โดยในขณะนี้ จ.ศรีสะเกษได้เริ่มเปิดจุดรับจำนำมันสำปะหลังตามโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ประจำปี 2555/2556 แล้วจำนวน 17 แห่ง แยกเป็นลานมัน จำนวน 16 แห่ง และโรงแป้งจำนวน 1 แห่ง
นายสนิท ขาวสะอาด รองผู้ว่าฯ ศรีสะเกษ กล่าวว่า ปัญหาในการดำเนินงานโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลังของ จ.ศรีสะเกษคือ ไม่มีโกดังกลางขนาดใหญ่เพื่อรองรับมันเส้นที่แปรสภาพแล้ว จึงจำเป็นต้องส่งไปยังโกดังกลาง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่ จ.ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา และ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น ทำให้ผู้ประกอบการลานมันภายใน จ.ศรีสะเกษไม่สามารถว่าจ้างรถบรรทุกในอัตราที่ทางภาครัฐกำหนดมาในปี 2555/2556 ได้เพราะต่ำกว่าราคาค่าขนส่งที่แท้จริง
ขณะนี้จังหวัดฯ ได้ประสานงานไปยังองค์การคลังสินค้า (อคส.) ให้จัดหารถบรรทุกในอัตราค่าขนส่งที่กำหนดมาได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการในพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง
โดย ASTV ผู้จัดการออนไลน์ 15 มกราคม 2556
พาณิชย์-พลังงานซื้อมันโครงการจำนำ 1.6 ล้านตัน
บุญทรง เตริยาภิรมณ์
พาณิชย์ร่วมกับกระทรวงพลังงานรับซื้อมันสำปะหลังในโครงการรับจำนำ 1.6 ล้านตัน ในราคากก.ละ 2.50 บาท
นายบุญทรง เตริยาภิรมณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลัง ว่า ในที่ประชุมได้มีมติให้กระทรวงพลังงานรับซื้อมันสำปะหลังในโครงการรับจำนำของรัฐบาล จำนวน 1.6 ล้านตัน ในราคากก.ละ 2.50 บาท ในระยะเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่เดือนม.ค.ถึงมี.ค. โดยถือเป็นช่องทางการระบายมันสำปะหลัง และลดต้นทุนในการจัดเก็บมันสำปะหลังส่วนการรับซื้อในปริมาณน้อย เนื่องจากโรงเอทานอลต้องใช้เวลาในการปรับเครื่องจักร เพื่อรองรับการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง จึงไม่สามารถรองรับในปริมาณมากได้
แต่ทางกระทรวงพลังงานได้ตั้งเป้าการรับซื้อมันสำปะหลัง ในปี 2557 ที่ 7.5 ล้านตันหรือ30% ของผลผลิตทั้งหมด สำหรับโครงการรับจำนำมันสำปะหลัง 2555/56 มีหัวมันสดเข้าร่วมโครงการแล้ว 1.52 แสนตัน จากการเปิดจุดรับซื้อ 272 รายและจุดรับฝาก155 ราย กำหนดเป้าหมายไตรมาส 1 ปีนี้จะมีหัวมันสดเข้าร่วมโครงการ 2.10 แสนตัน มันเส้น 8.47 หมื่นตัน สถานการณ์มันสำปะหลังปี 255/56 ผลผลิตทั้งหมดคาดว่าจะมี 27.55 ล้านตัน มีต้นทุนการผลิต เฉลี่ยที่กก.ละ 1.82 บาท ซึ่งขณะนี้มีผลผลิตออกสู่ตลาดแล้ว 31.97% ส่วนสถานการณ์ราคา หัวมันสดเชื้อแป้ง 25% จ.นครราชสีมา กก.ละ 2.102.25 บาท ราคาส่งออกเอฟโอบี มันเส้น กก,ละ 7-7.15 บาท ราคาส่งออกเอฟโอบีแป้งมัน กก.ละ 13.35-13.50 บาท
โดยการส่งออกช่วง ม.ค. - พ.ย. 2555 ปริมาณ 7.56 ล้านตัน มูลค่า 78.3 หมื่นล้านบาท นายบุญทรง กล่าวอีกว่า ในที่ประชุมยังมีมติปรับปรุงโครงสร้างคณะอนุกรรมการ 2 คณะ คือ คณะอนุกรรมการด้านการตลาดมันสำปะหลัง และคณะอนุกรรมการระบายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายใน เพราะทั้งสองคณะยังทำงานซ้ำซ้อนกันจึงปรับปรุงเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกันมากขึ้น
โดย กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 12 มกราคม 2556
"ชัชชาติ"ยอมผ่อนผันน้ำหนัก 58 ตัน อีก 6 เดือน รอผลศึกษา ปัดกลัวปิดถนน
"คมนาคม"สั่งกรมทางหลวงผ่อนผันประกาศบังคับน้ำหนักบรรทุก 58 ตันออกไปอีก 6 เดือน "ชัชชาติ"เผยต้องรอผลศึกษาน้ำหนักที่ชัดเจนก่อนบังคับใช้ ชี้สั่งชะลอไม่ใช่กลัวคำขู่ปิดถนนแต่เพื่อความเป็นธรรมเหตุรัฐไม่ทำตามข้อตกลง พร้อมจับผู้ประกอบการทำเอ็มโอยูให้ยอมรับผลศึกษาและตั้ง"วิเชียร"ดูปัญหารถ 4 ล้อแบกน้ำหนกเกิน เผยถูกร้องเรียนมาก
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ได้หารือร่วมกับกรมทางหลวง (ทล.) ,สมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยและผู้ประกอบการรถบรรทุกแล้วได้ข้อสรุปว่า กระทรวงคมนาคมโดยกรมทางหลวงจะผ่อนผันการบังคับใช้ประกาศกรมทางหลวงให้ใช้พิกัดน้ำหนักบรรทุก รถพ่วง 7 เพลา 24 ล้อ ไม่เกิน 53 ตัน ตั้งแต่วันที่ 1มกราคม-31ธันวาคม 2556 ออกไป6 เดือน โดยให้บรรทุกได้ตามการผ่อนผันเดิมที่ไม่เกิน 58 ตันไปก่อน เพื่อรอผลการศึกษาน้ำหนักที่เหมาะสมซึ่งกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จะว่าจ้างสถาบันการศึกษาซึ่งเป็นคนกลาง เข้ามาศึกษาให้ได้ข้อสรุปภายใน6 เดือน
ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าภาครัฐไม่ชัดเจนในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน เนื่องจากมีการผ้อนผันน้ำหนักบรรทุกรถประเภท รถพ่วง 7 เพลา 24 ล้อมาตั้งแต่ปี 2552 ที่ 58 ตัน โดยตกลงว่าจะทยอยปรับลดมาเป็น 53 ตันและ 50.5 ตันตามกฎหมายในปี 2556 แต่ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนว่าน้ำหนักที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไรออกมา ดังนั้นการจะบังคับใบ้เลยจึงไม่ยุติธรรมกับผู้ประกอบการ และเพื่อเป็นการแสดงความจริงใจในวันที่ 14 มกราคมนี้ จะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ร่วมกับผู้ประกอบการรถบรทุกทั้ง 9 สมาคมเพื่อเป็นข้อตกลงร่วมกันในการปฎิบัติเกี่ยวกับน้ำหนักบรรทุกที่ชัดเจน โดยจะต้องยอมรับผลการศึกษาที่ออกมา
"ที่ผ่อนผันไม่ได้มาจากกลัวคำขู่ปิดถนน ไม่ต้องพูดเรื่องนี้ ผมรับไม่ได้และจะไม่ยอมแน่นอน เพราะผมพร้อมคุยพร้อมฟังเหตุผลตลอดเวลา ซึ่งต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา รัฐไม่ชัดเจน ดังนั้นต้องไม่เป็นเหมือนเดิม ต้องทำให้ครบก่อนบังคับใช้ ไม่เช่นนั้นต่อไปคุยอะไรกันก็คงยาก ตอนนี้ตกลงกันและจะทำเอ็มโอยู ไม่ว่าผลศึกษาจะออกมาน้ำหนักเท่าไรก็ต้องยอมรับ ห้ามมีปัญหา"นายชัชชาติกล่าว
ส่วนน้ำหนักบรรทุกของประเทศอาเซียน (AEC) นั้น นายชัชชาติกล่าวว่า ส่วนใหญ่กำหนดที่ไม่เกิน 38 ตันแต่ในการพิจารณาจะต้องดูผลกระทบในภาพรวมโดยจะให้ความสำคัญกับกับรถบรรทุกภายในประเทศเป็นหลัก และเห็นว่า รถบรรทุกที่วิ่งข้ามประเทศอาเซียนมีจำนวนไม่มาก
นอกจากนี้ยังได้ตั้งพล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาน้ำหนักบรรทุกในภาพรวมโดยเฉพาะปัญหารถประเภท 4 ล้อ บรรทุกน้ำหนักเกินและส่งผลกระทบทำให้ถนนชำรุดเสียหายเร็วทำให้ต้องสูญเสียงงประมาณในการซ่อมถนนสูงกว่า 48,000 ล้านบาทต่อปีเพื่อให้การพิจารณาครอบคลุมรถทุกประเภทและทุกมิติ
โดย ASTV ผู้จัดการออนไลน์ 13 มกราคม 2556
เลื่อนบังคับใช้ประกาศกำหนด นน.บรรทุก รถพ่วง 58 ตันออกไป 6 เดือน
ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- ศุกร์ที่ 11 มกราคม 2556 21:12:00 น.
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม เปิดเผยผลประชุมแก้ปัญหาน้ำหนักบรรทุกของรถพ่วง 7 เพลา 24 ล้อ ร่วมกับกรมทางหลวง และสมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 11 มกราคม ว่า ที่ประชุมมีมติผ่อนผันการบังคับใช้ประกาศของกรมทางหลวง ที่กำหนดน้ำหนักบรรทุกรถพ่วง 7 เพลา 24 ล้อ ไม่เกิน 53 ตัน ออกไปก่อน 6 เดือน จากเดิมมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2556 โดยให้สิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายน 2556 และระหว่างที่ผ่อนผันสามารถบรรทุกน้ำหนักไม่เกิน 58 ตัน
สาเหตุที่ผ่อนผัน เนื่องจากการพิจารณาข้อตกลงร่วม 2 ฝ่ายย้อนหลังพบว่า กรมทางหลวงไม่ได้ทำตามข้อตกลงที่รับปาก ไว้กับผู้ประกอบการรถบรรทุก โดยข้อตกลงกำหนดน้ำหนักไม่เกิน 58 ตัน ในปี 2554 และทยอยปรับลดลงเหลือ 53 ตัน ในปี 2555 สุดท้ายเหลือน้ำหนัก 50.5 ตัน ในปี 2556 โดยก่อนปรับลดให้มีการศึกษาเรื่องน้ำหนักที่เหมาะสมก่อน
นายชัชชาติกล่าวว่า ระหว่างการผ่อนผัน กรมการขนส่งทางบกจะว่าจ้างสถาบันการศึกษา หรือสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ?ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เป็นกลางศึกษาน้ำหนักบรรทุกที่เหมาะสม โดยวันที่ 14 มกราคมนี้ จะเชิญสมาคมขนส่งที่เกี่ยวข้อง 9 สมาคม มาลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันว่าจะยอมรับผลการศึกษาในอีก 6 เดือนข้างหน้า และจะยึดเอ็มโอยูนี้เป็นแนวทางปฏิบัติ ป้องกันปัญหาความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น
ด้านนายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง นายกสมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า พอใจกับมติที่ประชุม และผู้ประกอบการพร้อมรับผลการศึกษาความเหมาะสมของน้ำหนักบรรทุกที่จะให้หน่วยงานกลางเป็นผู้ศึกษาและพร้อมปฏิบัติตาม
ธ.ก.ส.เพิ่มวงเงินกู้ซื้อเครื่องจักร
ธ.ก.ส.ใจดีขยายวงเงินปล่อยกู้ในโครงการจัดหาเครื่องจักรเครื่องยนต์ทางการเกษตรเพิ่มอีก 2 หมื่นล้านบาท เล็งช่วยเกษตรกรมีเครื่องมือการเกษตรเพิ่มขึ้นกว่าแสนราย
นายชัยวัฒน์ ปกป้อง ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ขยายวงเงินสินเชื่อในโครงการจัดหาเครื่องจักรเครื่องยนต์ทางการเกษตรเพิ่มเติมอีกจำนวน 2 หมื่นล้านบาท เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ธ.ก.ส.ที่ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก จากก่อนหน้านี้ธนาคารได้มีการดำเนินโครงการดังกล่าวแล้ว คิดเป็นวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท รวมเป็น 3.5 หมื่นล้านบาท โดยจะปล่อยกู้เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2554-31 มี.ค.2557 ในอัตราดอกเบี้ย MRR+ 0.75% สำหรับลูกค้าที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ขณะที่ลูกค้าที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน คิดอัตราดอกเบี้ย MRR + 2.5% โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ของธนาคารอยู่ที่ 7% ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้จ่ายสินเชื่อตามโครงการดังกล่าวในช่วงแรกไปแล้วทั้งสิ้น 1.56 หมื่นล้านบาท
“วงเงินที่ขยายเพิ่มเติมในโครงการดังกล่าวอีก 2 หมื่นล้านบาทนั้น คาดว่าจะช่วยให้เกษตรกรมีเครื่องจักรเครื่องยนต์ทางการเกษตรไว้ใช้งานเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1 แสนราย ซึ่งถือว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์อย่างมาก” นายชัยวัฒน์ กล่าว
นายชัยวัฒน์กล่าวอีกว่า โครงการสินเชื่อดังกล่าวจะจัดสินเชื่อออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.เพื่อเป็นค่าลงทุนซื้อทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องยนต์ที่ใช้ในการผลิต การแปรรูป ยานพาหนะในการบรรทุกขนส่ง หรืออุปกรณ์ต่อพ่วง และ 2.เพื่อนำเงินกู้ไปชำระค่าเช่าซื้อกับบริษัทผู้ประกอบกิจการให้เช่าซื้อ (ลีสซิ่ง) หรือบริษัทในเครือตัวแทนจำหน่าย หรือผู้ประกอบการที่ดำเนินกิจการในลักษณะเดียวกัน พร้อมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวมาเป็นของเกษตรกร.