
ชาวไร่มันเฮ! ”พิชัย“ จับมือผู้นำเข้ายักษ์ใหญ่จีนสั่งซื้อมันสำปะหลังไทย กว่า 9.8 แสนตัน ร่วม 8,000 ล้านบาท ดูดซับหัวมันสด 3 ล้านตัน ดึงราคามันทั้งระบบ






“พาณิชย์”โชว์ผลงานนำทีมขายมันที่เซี่ยงไฮ้-เฉิงตู ตกลงซื้อ 4.4 แสนตัน มูลค่า 5,314.95 ล้าน
กรมการค้าต่างประเทศสรุปผลการนำคณะผู้แทนการค้าภาครัฐและภาคเอกชน เดินทางไปขยายตลาดมันสำปะหลังที่เซี่ยงไฮ้และเฉิงตู ประสบความสำเร็จเกินคาด ตกลงซื้อขาย 4.4 แสนตัน คิดเป็นปริมาณหัวมันสด 1.68 ล้านตัน มูลค่า 5,314.95 ล้านบาท เผยยังสามารถเปิดตลาดใหม่ไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ ทั้งแอลกอฮอล์ อาหารสัตว์ กาว และกระดาษ โดยเฉพาะอาหารสัตว์ เห็นแววสดใส
นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการนำคณะผู้แทนการค้าภาครัฐและภาคเอกชน เดินทางไปขยายตลาดผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทยในอุตสาหกรรมขั้นปลายที่มีศักยภาพ ณ นครเซี่ยงไฮ้ และนครเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 5-9 ม.ค.2568 ตามนโยบายนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้สั่งการให้เร่งผลักดันขยายตลาดส่งออกมันสำปะหลัง เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้ามันสำปะหลังของไทยและยกระดับราคามันสำปะหลังแก่เกษตรกร ว่า การเดินทางไปครั้งนี้ ได้รับการตอบรับจากตลาดจีนเป็นอย่างดี โดยการจัดกิจกรรมเจรจาการค้า มีผู้นำเข้าระดับท็อปในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของจีน สนใจเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง และได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ซื้อขายสินค้ามันสำปะหลังกับผู้ประกอบการไทยปริมาณ 440,000 ตัน รวมเป็นมูลค่ากว่า 5,314.95 ล้านบาท ซึ่งจะดูดซับหัวมันสดในประเทศได้กว่า 1.68 ล้านตัน
ทั้งนี้ นอกเหนือจากการลงนาม MOU แล้ว การเจรจาจับคู่ธุรกิจการค้า (Business Matching) ระหว่างผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทยกับผู้ประกอบการจีน ก็ประสบความสำเร็จเช่นกัน โดยมีผู้ประกอบการจีนเข้าร่วมเจรจาจำนวน 51 ราย จากอุตสาหกรรมขั้นปลายที่มีศักยภาพทั้งเก่าและใหม่ อาทิ อุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมกาว อุตสาหกรรมกระดาษ โดยเฉพาะได้รับความสนใจจากบริษัท New Hope Group ซึ่งเป็น 1 ในบริษัทผลิตอาหารสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในจีนที่มีเงินทุนจดทะเบียนสูงถึง 340,000 ล้านหยวน เข้าร่วมกิจกรรมเจรจาการค้า และหารือการสร้างโอกาสในการนำผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทยไปใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ในจีนมากขึ้น และแนวทางการส่งเสริมการค้ามันสำปะหลังระหว่างไทยและจีนในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในระยะยาวต่อไป
“กรมจะติดตามผลการเจรจาซื้อขายในครั้งนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายผลให้เกิดการกระตุ้นตลาดนำเข้ามันเส้นจากสาธารณรัฐประชาชนจีนให้มากที่สุด เนื่องจากผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยมีชื่อเสียงด้านคุณภาพในระดับโลกมาอย่างยาวนาน อีกทั้งคุณค่าทางโภชนาการที่โดดเด่นเหนือกว่าธัญพืชอื่น เช่น ข้าวโพด จึงยังเป็นจุดแข็งที่ทำให้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบพรีเมี่ยมทดแทนในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ได้อย่างดีอีกด้วย”นางอารดากล่าว
สำหรับการซื้อขายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังระหว่างภาคเอกชนไทยกับผู้นำเข้าจีน จากการดำเนินกิจกรรมที่สาธารณรัฐประชาชนจีนในครั้งนี้ ถือเป็นสัญญาณอันดีที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิผลของการดำเนินกิจกรรมตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์และพันธกิจของกรม ที่ผลักดันผลผลิตมันสำปะหลังสู่ตลาดเป้าหมาย ทั้งตลาดเก่าและตลาดใหม่ รวมถึงถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญของอุตสาหกรรมมันสำปะหลังเส้นของไทยในการหลุดออกจากกรอบการค้าแบบเดิมและก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่หลากหลายของจีน
ที่มา : https://www.commercenewsagency.com/news/7446
“พิชัย” เร่งช่วยเกษตรกรชาวไร่มัน ประสานจีนรับซื้อมันสำปะหลัง ดันผู้ประกอบอาหารสัตว์ใช้มันเส้นเพิ่ม พร้อมสั่งการทูตพาณิชย์เปิดตลาดใหม่
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งไปยังกรมการค้าภายใน และกรมการค้าต่างประเทศ ให้เร่งช่วยเหลือพี่น้องเกษตรชาวไร่มันผ่านหลายมาตรการ และยังได้เร่งประสานให้ทางการจีนเข้ามาช่วยรับซื้อผลผลิตจากมันสำปะหลังเป็นการเร่งด่วน พร้อมขอให้สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยเพิ่มจำนวนรับซื้อมันเส้น และสั่งการทูตพาณิชย์ให้หาตลาดล่วงหน้า เน้นเปิดตลาดใหม่ให้แก่ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง
ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากกรมการค้าภายในว่าสัปดาห์หน้า ช่วงก่อนปีใหม่ ทางกรมฯ เตรียมของบประมาณกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร สำหรับโครงการชะลอการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง ปี 2567/68 เพื่อให้เกษตรกรชะลอการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังไปก่อน ในช่วงที่ผลผลิตกำลังจะออกสู่ตลาดมาก สนับสนุนให้ใช้สินเชื่อจาก ธ.ก.ส. และรัฐบาลจะรับภาระดอกเบี้ย
นอกจากนี้ ได้เตรียมหารือร่วมกับสมาคมมันสำปะหลังทั้ง 4 สมาคม กลุ่มผู้ประกอบการอาหารสัตว์ ผู้เลี้ยงสุกร เพื่อให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ หรือผู้เลี้ยงปศุสัตว์ช่วยดูดซับปริมาณมันสำปะหลังในประเทศ ผลักดันการใช้มันเส้นในประเทศในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ปริมาณไม่น้อยกว่า 5 แสนตัน ซึ่งมากกว่าปริมาณการใช้ในอดีตที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน กรมการค้าต่างประเทศ ตนได้รับแจ้งว่า ได้เร่งเดินหน้าขยายตลาดส่งออกมันสำปะหลังไปต่างประเทศ โดยมีการหารือร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง ซี่งเมื่อวันที่ 4 และ17 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมาได้หาแนวทางการจัดกิจกรรมขยายตลาดร่วมกัน พร้อมกำหนดตลาดเป้าหมายที่มีศักยภาพในการนำเข้ามันสำปะหลังเพิ่มเติม อาทิ เม็กซิโก ชิลี ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียรวมทั้งให้เร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มการส่งออกสินค้าให้สูงขึ้น
“พาณิชย์” ชี้เป้าเพิ่มมูลค่ามัน ทำพลาสติกชีวภาพ ผสมอาหารจากพืช ผลิตบรรจุภัณฑ์กินได้
สนค.ชี้เป้าเพิ่มมูลค่ามันสำปะหลัง นำผลิตพลาสติกชีวภาพ ทดแทนพลาสติก นำต่อยอดผสมในอาหารจากพืช และอาหารฟังก์ชัน และใช้ทำบรรจุภัณฑ์อาหารทานได้ ที่กำลังมีแนวโน้มเติบโต เผยจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอน แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และเพิ่มราคามันให้กับเกษตรกร
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้ศึกษาการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้ามันสำปะหลังของไทย โดยพบว่า มันสำปะหลังสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มได้มากมาย เริ่มจากพลาสติกชีวภาพ ที่สนับสนุนแนวคิด BCG โดยสามารถใช้มันสำปะหลังมาผลิตได้ และสามารถย่อยสลายได้ด้วยจุลินทรีย์ตามธรรมชาติ ลดปริมาณก๊าซคาร์บอนในกระบวนการผลิต ลดภาระด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อเทียบกับพลาสติกทั่วไปที่ตกค้างคงทนได้นานหลายร้อยปี และสามารถนำปใช้ประโยชน์ได้ในหลายอุตสาหกรรม เช่น การแพทย์ บรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ หรือการเกษตร ผลิตเป็นถุงชอปปิ้ง ภาชนะใส่อาหาร ช้อนส้อม หลอด ฟิล์มคลุมดิน เป็นต้น โดยมีการคาดกันว่า มูลค่าตลาดของพลาสติกชีวภาพทั่วโลกในปี 2566 อยู่ที่ 96,600 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2576 จะมีมูลค่าตลาดทั่วโลกสูงถึง 1,353,300 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ มันสำปะหลัง ยังสามารถนำมาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมสุขภาพ ตามกระแสสังคมที่ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารเป็นยา สังคมผู้สูงอายุ และเทรนด์อาหารจากพืช (Plant-Based Food) โดยใช้เป็นส่วนผสมพื้นฐานในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากพืช และอาหารฟังก์ชัน (Functional Foods) ที่ให้ประโยชน์ต่อผู้บริโภค โดยคาดว่า ตลาดอาหารจากพืชทั่วโลก จะมีมูลค่าถึง 77,800 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 และจะเติบโตต่อเนื่อง มีมูลค่าตลาดกว่า 161,900 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2573 ส่วนอาหารฟังก์ชัน ในปี 2570 จะมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 268,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะอาหารฟังก์ชันที่มีการเสริมวิตามิน แร่ธาตุ โปรตีน กรดอะมิโน โพรไบโอติก พรีไบโอติก และใยอาหาร เพื่อเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ที่จะมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน ยังพบว่า มันสำปะหลังสามารถนำไปผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารทานได้ (Edible Packaging) ซึ่งปัจจุบันเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคยุคใหม่ ที่หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จึงมองหาบรรจุภัณฑ์ที่มีความยั่งยืนมากขึ้น โดยบรรจุภัณฑ์ทานได้ส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในท้องตลาดปัจจุบัน ผลิตมาจากโพลิเมอร์ธรรมชาติ อาทิ เจลาติน และกลูเตน หรือแป้ง และไขมัน ซึ่งสามารถใช้แป้งมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบในการผลิตได้ โดยตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารทานได้ทั่วโลกในปี 2566 มีมูลค่า 711.09 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตถึง 1,193.98 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2575 โดยมีสหภาพยุโรปเป็นตลาดอันดับหนึ่ง สัดส่วน 37.49% ของมูลค่าตลาดโลก
“มันสำปะหลังไม่ใช่แค่พืชเศรษฐกิจของไทย แต่ยังสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบทำผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่าได้อีกมาก ทั้งพลาสติกชีวภาพ อาหารอนาคต บรรจุภัณฑ์ทานได้ ทำให้มันสำปะหลังมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ และหากสามารถผลักดันให้มีการนำมันสำปะหลังไปใช้ทำผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่าได้มากขึ้น ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มความต้องการใช้มันสำปะหลัง แต่ยังช่วยผลักดันราคาให้กับเกษตรกรได้ด้วย โดยล่าสุดปลัดกระทรวงพาณิชย์ได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ เร่งหาผู้นำเข้ามันสำปะหลังรายใหม่จากทั่วโลก โดยเฉพาะการนำไปใช้เพื่อเป็นวัตถุดิบในการทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นส่วนผสม ให้มาดูวัตถุดิบต้นน้ำในไทย และเพิ่มโอกาสในการขายมันสำปะหลังแล้ว”นายพูนพงษ์กล่าว
ปัจจุบันไทยเป็นผู้ผลิตมันสำปะหลังอันดับ 3 ของโลก รองจากไนจีเรีย และคองโก และเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอันดับ 1 ของโลก มีตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ จีน โดยภาพรวมการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังมีแนวโน้มลดลง จากการที่จีนลดการนำเข้า เนื่องจากจีนมีผลผลิตข้าวโพดในประเทศที่เพิ่มขึ้น ซึ่งข้าวโพดและมันสำปะหลังสามารถเป็นสินค้าทดแทนกัน และนโยบายการสร้างความมั่นคงด้านอาหารภายในของจีน ไทยจึงต้องหาทางปรับตัว นำมันสำปะหลังไปผลิตเป็นสินค้าอื่น ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น
สำหรับการค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทย ในช่วง 10 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-ต.ค.) การส่งออกมีมูลค่า 2,684.63 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 17.48% แยกเป้นการส่งออกแป้งมันสำปะหลังดิบ 1,401.64 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น11.21% แป้งมันสำปะหลังแปรรูป 795.23 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.34% มันเส้น 431.88 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 61.77% มันสำปะหลังอัดเม็ด 7.96 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 70.66% หัวมันสำปะหลังสด 0.07 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.57% และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอื่น ๆ 47.84 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 33.98%
ส.อาหารสัตว์ ขานรับนำเข้าข้าวโพดตามข้อตกลง AFTA พร้อมช่วยรับซื้อ มันเส้น... อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.matichon.co.th/economy/news_4960560#google_vignette
ส.อาหารสัตว์ ขานรับนโยบายรัฐนำเข้าข้าวโพดตามข้อตกลง AFTA พร้อมช่วยรับซื้อ “มันเส้น” แม้ใช้น้อย ย้ำอย่าให้มีทรายปน
นายอรรถพล ชินภูวดล ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เปิดเผยว่า สมาชิกสมาคมรับทราบมติที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตามความตกลงเขตการค้าเสรีปี 2568 แล้ว ชื่นชมรัฐประกาศได้รวดเร็ว ส่งผลให้กระบวนการผลิตเดินหน้าต่อได้อย่างราบรื่น ขณะเดียวกัน สมาชิกยินดีช่วยรับซื้อ “มันเส้น” ตามที่กรมการค้าภายในขอความร่วมมือ แม้จะมีสัดส่วนการใช้เพียง 4-5% ซึ่งน้อยมาก ขอเพียงอย่าให้มีทรายปะปนเข้ามา เนื่องจากจะทำให้เครื่องจักรเสียหาย
“ครม.อนุมัติงบ 368 ล้านบาทช่วยชาวไร่มัน รักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลังไปแล้ว แต่เมื่อกรมการค้าภายในขอความร่วมมือมา สมาชิกของเราก็ยินดีที่จะช่วยเหลือโดยช่วยซื้อมันเส้นตามสัดส่วนการใช้ อย่างไรก็ตามสิ่งที่พบคือมีทรายปะปนเข้ามาซึ่งอาจทำให้เครื่องจักรของสมาชิกเสียหายได้ จึงต้องขอให้ระมัดระวังให้มาก และชาวไร่มันสามารถติดต่อกับโรงงานอาหารสัตว์แต่ละแห่งได้โดยตรง” นายอรรถพลกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อวานนี้(17 ธันวาคม 67) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การนำข้าวโพดที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักร ตามความตกลงภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) สำหรับ พ.ศ.2568 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยผู้นำเข้าจะได้รับสิทธิพิเศษทางด้านภาษีศุลกากร ในอัตรา 0% โดยเป็นการคงนโยบายและมาตรการนำเข้าเช่นเดียวกับปี 67 ทั้งหมด เพื่อให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ สามารถนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ ในช่วงที่ผลผลิตภายในประเทศออกสู่ตลาดน้อย ตลอดจนเพื่อให้เป็นไปตามความตกลงระหว่างประเทศที่ไทยผูกพันไว้
ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_4960560#google_vignette