“พาณิชย์” ชี้เป้าเพิ่มมูลค่ามัน ทำพลาสติกชีวภาพ ผสมอาหารจากพืช ผลิตบรรจุภัณฑ์กินได้
สนค.ชี้เป้าเพิ่มมูลค่ามันสำปะหลัง นำผลิตพลาสติกชีวภาพ ทดแทนพลาสติก นำต่อยอดผสมในอาหารจากพืช และอาหารฟังก์ชัน และใช้ทำบรรจุภัณฑ์อาหารทานได้ ที่กำลังมีแนวโน้มเติบโต เผยจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอน แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และเพิ่มราคามันให้กับเกษตรกร
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้ศึกษาการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้ามันสำปะหลังของไทย โดยพบว่า มันสำปะหลังสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มได้มากมาย เริ่มจากพลาสติกชีวภาพ ที่สนับสนุนแนวคิด BCG โดยสามารถใช้มันสำปะหลังมาผลิตได้ และสามารถย่อยสลายได้ด้วยจุลินทรีย์ตามธรรมชาติ ลดปริมาณก๊าซคาร์บอนในกระบวนการผลิต ลดภาระด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อเทียบกับพลาสติกทั่วไปที่ตกค้างคงทนได้นานหลายร้อยปี และสามารถนำปใช้ประโยชน์ได้ในหลายอุตสาหกรรม เช่น การแพทย์ บรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ หรือการเกษตร ผลิตเป็นถุงชอปปิ้ง ภาชนะใส่อาหาร ช้อนส้อม หลอด ฟิล์มคลุมดิน เป็นต้น โดยมีการคาดกันว่า มูลค่าตลาดของพลาสติกชีวภาพทั่วโลกในปี 2566 อยู่ที่ 96,600 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2576 จะมีมูลค่าตลาดทั่วโลกสูงถึง 1,353,300 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ มันสำปะหลัง ยังสามารถนำมาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมสุขภาพ ตามกระแสสังคมที่ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารเป็นยา สังคมผู้สูงอายุ และเทรนด์อาหารจากพืช (Plant-Based Food) โดยใช้เป็นส่วนผสมพื้นฐานในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากพืช และอาหารฟังก์ชัน (Functional Foods) ที่ให้ประโยชน์ต่อผู้บริโภค โดยคาดว่า ตลาดอาหารจากพืชทั่วโลก จะมีมูลค่าถึง 77,800 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 และจะเติบโตต่อเนื่อง มีมูลค่าตลาดกว่า 161,900 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2573 ส่วนอาหารฟังก์ชัน ในปี 2570 จะมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 268,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะอาหารฟังก์ชันที่มีการเสริมวิตามิน แร่ธาตุ โปรตีน กรดอะมิโน โพรไบโอติก พรีไบโอติก และใยอาหาร เพื่อเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ที่จะมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน ยังพบว่า มันสำปะหลังสามารถนำไปผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารทานได้ (Edible Packaging) ซึ่งปัจจุบันเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคยุคใหม่ ที่หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จึงมองหาบรรจุภัณฑ์ที่มีความยั่งยืนมากขึ้น โดยบรรจุภัณฑ์ทานได้ส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในท้องตลาดปัจจุบัน ผลิตมาจากโพลิเมอร์ธรรมชาติ อาทิ เจลาติน และกลูเตน หรือแป้ง และไขมัน ซึ่งสามารถใช้แป้งมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบในการผลิตได้ โดยตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารทานได้ทั่วโลกในปี 2566 มีมูลค่า 711.09 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตถึง 1,193.98 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2575 โดยมีสหภาพยุโรปเป็นตลาดอันดับหนึ่ง สัดส่วน 37.49% ของมูลค่าตลาดโลก
“มันสำปะหลังไม่ใช่แค่พืชเศรษฐกิจของไทย แต่ยังสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบทำผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่าได้อีกมาก ทั้งพลาสติกชีวภาพ อาหารอนาคต บรรจุภัณฑ์ทานได้ ทำให้มันสำปะหลังมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ และหากสามารถผลักดันให้มีการนำมันสำปะหลังไปใช้ทำผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่าได้มากขึ้น ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มความต้องการใช้มันสำปะหลัง แต่ยังช่วยผลักดันราคาให้กับเกษตรกรได้ด้วย โดยล่าสุดปลัดกระทรวงพาณิชย์ได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ เร่งหาผู้นำเข้ามันสำปะหลังรายใหม่จากทั่วโลก โดยเฉพาะการนำไปใช้เพื่อเป็นวัตถุดิบในการทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นส่วนผสม ให้มาดูวัตถุดิบต้นน้ำในไทย และเพิ่มโอกาสในการขายมันสำปะหลังแล้ว”นายพูนพงษ์กล่าว
ปัจจุบันไทยเป็นผู้ผลิตมันสำปะหลังอันดับ 3 ของโลก รองจากไนจีเรีย และคองโก และเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอันดับ 1 ของโลก มีตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ จีน โดยภาพรวมการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังมีแนวโน้มลดลง จากการที่จีนลดการนำเข้า เนื่องจากจีนมีผลผลิตข้าวโพดในประเทศที่เพิ่มขึ้น ซึ่งข้าวโพดและมันสำปะหลังสามารถเป็นสินค้าทดแทนกัน และนโยบายการสร้างความมั่นคงด้านอาหารภายในของจีน ไทยจึงต้องหาทางปรับตัว นำมันสำปะหลังไปผลิตเป็นสินค้าอื่น ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น
สำหรับการค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทย ในช่วง 10 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-ต.ค.) การส่งออกมีมูลค่า 2,684.63 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 17.48% แยกเป้นการส่งออกแป้งมันสำปะหลังดิบ 1,401.64 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น11.21% แป้งมันสำปะหลังแปรรูป 795.23 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.34% มันเส้น 431.88 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 61.77% มันสำปะหลังอัดเม็ด 7.96 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 70.66% หัวมันสำปะหลังสด 0.07 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.57% และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอื่น ๆ 47.84 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 33.98%