Company Logo





พยากรณ์อากาศ

เศรษฐกิจการเกษตร คาด ปี 57 ขยายตัวต่อเนื่อง

 

 

 

 

นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจการ เกษตรในปี 2557 สศก. คาดว่า จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.0–4.0 โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการผลิตในสาขาพืช ปศุสัตว์ รวมถึงสาขาประมงที่คาดว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงกลางปี  2557 และสามารถขยายตัวเป็นบวกได้ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ในปี 2557 ยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่จะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการผลิตภาคเกษตร เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน รวมถึงภัยธรรมชาติและโรคระบาดต่าง ๆ ซึ่งจำเป็นต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์ โดย สาขาพืช คาดว่าในปี 2557 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 3.2–4.2 เมื่อเทียบกับปี 2556 โดยผลผลิตพืชที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน ยาง พารา และปาล์มน้ำมัน ส่วนผลผลิตพืชที่มีแนวโน้มลดลง ได้แก่ ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง สับปะรด และผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด และเงาะ อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงเกี่ยวกับปริมาณน้ำที่ใช้การได้ในเขื่อนขนาดใหญ่ เช่น ภูมิพล และสิริกิติ์ ซึ่งมีความสำคัญต่อการเพาะปลูกพืช รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและการระบาดของศัตรูพืชต่าง ๆ ด้านราคาพืชที่เกษตรกรขายได้ส่วนใหญ่ในปี 2557 คาดว่าจะใกล้เคียงกับปี 2556 สำหรับการส่งออกสินค้าพืชและผลิตภัณฑ์ มีแนวโน้มดีขึ้นตามทิศทางของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศคู่ค้าซึ่งมีสัญญาณของการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

            

สาขาปศุสัตว์ คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0–3.0 โดยปริมาณการผลิตไก่เนื้อ ไข่ไก่ สุกร และโคนม มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากการพัฒนาระบบการเลี้ยงและการบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐานมากขึ้น มีกระบวนการควบคุมและเฝ้าระวังโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีการขยายการเลี้ยงเพื่อรองรับความต้องการบริโภคของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการเฝ้าระวังโรคระบาดต่าง ๆ รวมทั้งความเสี่ยงจากปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน ภัยธรรมชาติ และต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง ที่อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตปศุสัตว์

            

สาขาประมง มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2556 อยู่ในช่วงร้อยละ 2.2–3.2 เนื่องจากการผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นจากปัญหาการระบาดของโรค EMS ซึ่งกรมประมงร่วมกับภาคเอกชนได้ดำเนินมาตรการในการแก้ไขปัญหา อาทิ การดูแลทำความสะอาดบ่อเลี้ยงการ  Clean up โรงเพาะฟักลูกกุ้ง ขณะเดียวกันได้มีการควบคุมดูแลการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์กุ้งทะเลจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นแหล่งที่ผ่านการตรวจสอบจากกรมประมงแล้วว่าปลอดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรค นอกจากนี้ กรมประมงร่วม   กับผู้นำเข้าพ่อแม่พันธุ์กุ้งทะเลได้ดำเนินการหาแหล่งนำเข้าพ่อแม่พันธุ์อื่น ๆ ที่มีคุณภาพเพิ่มเติม 

 

สาขาบริการทางการเกษตร คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 0.8–1.8 เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังในปี 2557 มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับปี 2556 จากสถานการณ์น้ำในเขื่อนที่อาจมี ไม่เพียงพอต่อการปลูกข้าวนาปรังรอบสอง อย่างไรก็ตาม พื้นที่เพาะปลูกพืชที่สำคัญชนิดอื่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น ข้าวนาปี และอ้อยโรงงาน นอกจากนี้ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านการเกษตร ทำให้อัตราค่าจ้างแรงงานภาคเกษตรค่อนข้างสูง ส่งผลให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนมาใช้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรเพิ่มขึ้น และ สาขาป่าไม้ คาดว่ายังคงขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.0–4.0 เนื่องจากเป้าหมายการตัดโค่นต้นยางพาราเก่าและปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประมาณ  300,000 ไร่ ประกอบกับจำนวนพื้นที่เป้าหมายการตัดไม้ยูคาลิปตัสที่อายุครบตัดของภาคเอกชน ทั้งจากสวนป่าสมาชิกและหัวไร่ปลายนามีจำนวนเพิ่มขึ้น.

ที่มา : เดลินิวส์ วันพุธ 4 ธันวาคม 2556






Powered by Allweb Technology.