Company Logo





พยากรณ์อากาศ

เร่งโซนนิ่งพืชเศรษฐกิจ ปศุสัตว์ ประมง พร้อมสร้างความเข้าใจเกษตรกรในพื้นที่‏

 

 

 

ฉลอง เทพวิทักษ์กิจ

จากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศเขตความเหมาะสมในการปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด ได้แก่ ข้าว อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ล่าสุดได้ ประกาศเขตเหมาะสมในการเลี้ยงปศุสัตว์ เช่น โคเนื้อ โคนม ไก่ไข่ ไก่เนื้อ และสุกร อีกทั้ง กำลังจะมีการประกาศด้านประมงเพิ่มอีก 3 ชนิด คือ กุ้งขาว ปลานิล กุ้งก้ามกาม นอกจากนี้ ในเดือนเมษายนจะประกาศด้านพืชเพิ่ม 2 ชนิด คือ ลำไย และสับปะรด ส่วนในเดือนพฤษภาคม จะประกาศเพิ่มอีก 5 ชนิด ได้แก่ มังคุด ทุเรียน เงาะ มะพร้าว กาแฟ

นายฉลอง เทพวิทักษ์กิจ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การประกาศเขตความเหมะสมหรือโซนนิ่ง นั้น เจตนารมณ์สูงสุดของรัฐบาลคือการปรับความสมดุลระหว่างความต้องการ (อุปสงค์) ให้สมดุลกับปริมาณผลผลิต (อุปทาน) ของผลผลิตพืชชนิดนั้น เพื่อเกษตรกรจะขายสินค้าได้ราคาดีไม่มีผลผลิตส่วนเกิน โดยขณะนี้ได้แจ้งข้อมูลดังกล่าวผ่านกระทรวงมหาดไทยไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดแล้ว โดยแต่ละ จังหวัดจะต้องจัดทำแผนการผลิตระดับจังหวัดให้สอดคล้องกับเขตความเหมาะสมทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ ซึ่งแต่ละจังหวัดจะต้องมีคณะกรรมการในการพิจารณาเขตความเหมาะสมที่กระทรวงเกษตรฯ ประกาศ รวมทั้งคิดโครงการขึ้นมา 2 ส่วน คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในเขตที่เหมาะสม และการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตที่ไม่เหมาะสมมาผลิตสินค้าชนิดอื่นที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ในจังหวัดนั้นๆ ทั้งนี้หลังจากทุกจังหวัดทำโครงการเสร็จแล้วข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งกลับมายังกระทรวงเกษตรฯ ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 นี้

นายฉลอง กล่าวอีกว่า การประกาศเขตความเหมาะสมนั้น นอกจากต้องการลดพื้นที่ปลูกพืชที่มีปริมาณมากลง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการตลาดแล้ว ยังต้องการใช้ให้เห็นว่า ถ้าเกษตรกรปลูกพืชในพื้นที่เหมาะสมจะมีผลผลิตที่ดีต้นทุนต่ำ แต่หากปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสมน้อยหรือไม่เหมาะสมจะมีผลผลิตต่ำ และต้นทุนสูง ดังนั้น เราจึงจะมีโครงการและกิจกรรมต่างๆ ในการทำความเข้าใจกับเกษตรกรในเรื่องของการปรับเปลี่ยนอาชีพ เช่น การให้ความรู้ด้านการตลาด การลงทุน ปัจจัยต่างๆ ที่เป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดให้เกษตรกร เพื่อจูงใจให้เกิดการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เหมาะสมตามที่กำหนดไว้ รวมทั้งเข้าไปส่งเสริมไปทำปศุสัตว์ หรือประมงแทน นอกจากนี้ หากเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่เหมาะสมอยู่แล้วต้องการลดพื้นที่ปลูก หรือต้องการเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น ที่มีรายได้ดีกว่าเดิม เช่น เขตที่เหมาะสมในการปลูกข้าวในพื้นที่ลุ่ม ถ้าต้องการทำประมงที่รายได้ดีกว่า ก็สามารถดำเนินการได้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเกษตรกรเอง

ทั้งนี้ เราไม่ได้ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของเกษตรกรในการเลือกปลูกพืชแต่ละชนิด ช่วงแรกอาจจะมีปัญหาบ้าง แต่หลังจากดำเนินการไปได้ระยะหนึ่งแล้วเกษตรกรจะเริ่มเห็นตัวอย่างการปรับเปลี่ยนของเกษตรกรรายอื่น ที่มีรายได้ดีกว่าเดิม เชื่อว่าจะมีเกษตรกรเข้ามาร่วมโครงการกับเรามากขึ้นในอนาคต

"อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการประกาศโซนนิ่งการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และทำประมงออกมา ขอยืนยันว่าเกษตรกรที่อยู่นอกเขต จะยังคงได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนเดิมอย่างที่เคยได้รับ เช่น หากเกษตรกรที่อยู่นอกเขตประกาศประสบภัยพิบัติ ต่างๆ รัฐบาลจะยังคงนอกเขตประกาศก็ยังจำนำข้าวได้เหมือนเดิมเช่นกัน" นายฉลอง กล่าวทิ้งท้าย

หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ -- อังคารที่ 16 เมษายน 2556

 

 

 






Powered by Allweb Technology.