
วิสาหกิจชุมชนคนรักการเกษตรเอี่ยมเฮง โมเดลการเกื้อกูลกันระหว่างวิถีเกษตรกับภาคอุตสาหกรรม
จากกรณีที่เกษตรกรในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน ต.กุดโบสถ์ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา ได้นำน้ำจากบ่อบำบัดน้ำเสียของ บริษัท เอี่ยมเฮงอุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจในกิจการผลิตแป้งมันสำปะหลัง เป็นแหล่งรวบรวมและรับซื้อผลผลิตหัวมันสดจากเกษตรกรทั้งในและนอกเขตปฏิรูปที่ดิน มาใช้ประโยชน์ในแปลงเกษตร โดยพื้นที่บางส่วนของบ่อบำบัดน้ำเสียนั้น คาบเกี่ยวรุกล้ำเข้าไปในเขตพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน
ดังนั้น เมื่อสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) แจ้งให้บริษัทเอี่ยมเฮงฯ ปฏิบัติตาม คำพิพากษา ซึ่งจะเป็นผลให้บ่อบำบัดน้ำเสียที่เป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรของกลุ่มเกษตรกรต้องถูกฝังกลบ และไม่สามารถใช้ทำการเกษตรได้ เกษตรกรจึงขาดแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ จึงเกิดกรณีข้อขัดแย้งและการร้องทุกข์เพื่อของดการฝังกลบบ่อบำบัดน้ำเสียให้คงอยู่ เพื่อการใช้ประโยชน์เป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรของชุมชนร่วมกัน
ทั้งนี้ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ได้รับทราบผลการ ตรวจสอบของคณะอนุกรรมการ ที่ผ่านมา ส.ป.ก. ได้หารือกรณีที่จะไม่ทำการกลบบ่อบำบัดน้ำเสียกับกระทรวงการคลัง ปรากฏผลตามหนังสือตอบข้อหารือที่ กค 0410.2/3376 ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2555 ว่า การงดดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษานั้น ส.ป.ก. สามารถใช้ดุลพินิจพิจารณาอำนาจหน้าที่และความจำเป็นที่ต้องจัดบ่อน้ำในพื้นที่ว่าเป็นเท่าใดและจะงดการบังคับคดีบางส่วน โดย ผ่อนผันงดเว้นการถมบ่อเฉพาะจำนวนเท่าที่ ส.ป.ก. เห็นสมควร เพื่อประโยชน์ต่อทางราชการที่จะไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการขุดบ่อน้ำเพื่อสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่ โดยบ่อน้ำที่ได้รับการผ่อนผันต้องอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานและหากจำเป็นต้องมีการซ่อมแซมหรือปรับปรุงให้บริษัท เป็นผู้รับผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย
นายชาญชัย อติวรรณาพัฒน์ หัวหน้าโครงการเสิงสางโมเดล และ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาพื้นที่ภาคกลาง สำนักพัฒนาพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า พื้นที่โรงงานดังกล่าวตั้งอยู่ท่ามกลางพื้นที่เกษตรกรรม และกิจการโรงงานต้องนำน้ำดี จากลำปลายมาศเข้ามาใช้ดำเนินการผลิต ทำให้มีน้ำเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตลงสู่พื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งโรงงานได้มีมาตรฐานการบำบัดและระบายน้ำเสียที่บำบัดแล้วออกจากโรงงานในปี 2545 ต่อมาเกษตรกรในพื้นที่ได้รวมตัวและจัดตั้งกลุ่มเกษตรกร "ชุมชนคนรักการเกษตร" ขึ้น ซึ่งมีสมาชิกเริ่มต้น จำนวน 18 ครัวเรือน นำน้ำจากบ่อบำบัดน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วและได้รับรองคุณภาพว่าปลอดภัย สามารถทำการเกษตรได้ ไปใช้ประโยชน์ทำการเกษตรในกลุ่มของตนเอง ส่งผลให้พืชที่เพาะปลูกเจริญงอกงามและได้ผลผลิตดี หลังจากนั้นจึงเกิดการขยายตัวของกลุ่มเกษตรกรเพิ่มมากขึ้น มีสมาชิก 250 ครัวเรือน และในปี พ.ศ. 2550 ได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็น"วิสาหกิจชุมชน คนรักการเกษตรเอี่ยมเฮง"
ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนคนรักการเกษตรเอี่ยมเฮง ได้มีการพัฒนาระบบการนำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วมาจัดสร้างหอถังส่งน้ำและท่อส่งน้ำ กระจายไปสู่แปลงเกษตรกรรมที่อยู่ห่างไกลจากบ่อบำบัดน้ำเสีย (ขนาดท่อน้ำ เส้นผ่าศูนย์กลาง 12 นิ้ว ความหนาของ ท่อน้ำ 2 มิลลิเมตร ระยะทาง 5 กิโลเมตร) ทำให้จำนวนเกษตรกร และพื้นที่เกษตรกรรม ที่ได้รับประโยชน์ขยายวงกว้างไปอีก 378 ครัวเรือน ในพื้นที่กว่า 3,000 ไร่
ด้านนายโปรย ปราสาทกลาง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนรักการเกษตรเอี่ยมเฮง และเป็นเกษตรกรที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ต.กุดโบสถ์ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา เล่าให้ฟังว่า เดิมพื้นที่แถบนี้ทำการเกษตรไม่ค่อยได้ผล เนื่องจากอยู่นอกเขตชลประทาน แห้งแล้ง ขาดน้ำในการทำการเกษตร เกษตรกรส่วนใหญ่จึงปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งมันสำปะหลังให้ผลผลิตเพียงปีละครั้งเท่านั้น แต่หลังจากมีบ่อบำบัด น้ำเสียของ บริษัท เอี่ยมเฮงฯ เกษตรกรจึงสามารถลืมตาอ้าปากได้ เพราะสามารถนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วมาใช้ประโยชน์ในการรดน้ำพืชผักที่ปลูกไว้ ทำให้มีรายได้ตลอดทั้งปี
"ทุกวันนี้โอกาสขาดทุนก็ไม่มี เนื่องจากในน้ำที่ผ่านการบำบัดมี แร่ธาตุและฟอสฟอรัสอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ลดต้นทุนในการซื้อปุ๋ย อีกทั้งยังมีรายได้จากการขายพืชผักต่างๆ เช่น ผักชี หัวหอม กระเทียม ข้าวโพดหวาน และกะหล่ำปลี วันละ ประมาณ 1,300 บาท ส่งผลให้ปัจจุบันมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ชีวิตมีความสุขมากขึ้น" นายโปรย กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ พฤหัสบดีที่ 29 พฤศจิกายน 2555