Company Logo





พยากรณ์อากาศ

​“จุรินทร์”เป็นประธานลงนาม MOU ซื้อขายมันกับฮ่องกง ตุรกี จีน มูลค่าเกือบ 2 หมื่นล้าน

img

“จุรินทร์”เปิดงานประชุมสัมมนามันสำปะหลังโลกปี 66 โชว์วิสัยทัศน์ดันไทยเป็นคลังมันสำปะหลังป้อนตลาดโลก พร้อมจัดจับคู่ลงนาม MOU ซื้อขายมันสำปะหลังกับฮ่องกง ตุรกี จีน ปริมาณเกือบ 5 ล้านตันหัวมันสด มูลค่าเกือบ 2 หมื่นล้านบาท หลังทำสำเร็จขายให้ฟิลิปปินส์ไปก่อนหน้านี้ 2 หมื่นล้านบาท  
         
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการเป็นประธานเปิดงานประชุมสัมมนามันสําปะหลังโลกปี 2566 (World Tapioca Conference 2023) และปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “นโยบายการบริหารจัดการมันสําปะหลังของไทย” ที่มหาวิทยาลัย เทคโนโลยีสุรนารี ว่า จังหวัดนครราชสีมา ถือเป็นเมืองหลวงของมันสำปะหลัง เพาะปลูกและแปรรูปมากที่สุดในประเทศไทย งานนี้มี 5 กิจกรรม ได้แก่ 1.สัมมนาเชิงวิชาการ 2.แลกเปลี่ยนข้อมูลประสบการณ์ด้านการค้ามันสำปะหลัง 3.นิทรรศการมันสำปะหลัง 4.การจับคู่เจรจาธุรกิจ และ 5.การลงนาม MOU ซื้อขายมันสำปะหลังไทยกับต่างประเทศ
         
ทั้งนี้ ในการลงนาม MOU ซื้อขายมันสำปะหลังนั้น ได้ลงนามกับ 3 ประเทศ ได้แก่ ฮ่องกง ตุรกี และจีน คิดเป็นปริมาณมันสำปะหลังสดเกือบ 5 ล้านตัน มูลค่าเกือบ 20,000 ล้านบาท ถือเป็นครั้งที่ 2 ในรอบปี ที่กระทรวงพาณิชย์ เอกชน ผู้เกี่ยวข้อง และกระทรวงพาณิชย์นำผู้ซื้อจากต่างประเทศมาซื้อมันสำปะหลังไทยล็อตใหญ่ จากก่อนหน้านี้ ได้พาฟิลิปปินส์มาซื้อประมาณ 5 ล้านตันหัวมันสด มูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาท ที่ อ.ปากช่อง โดยปีนี้ขายล่วงหน้าหัวมันสำปะหลังสดได้แล้ว 10 ล้านตัน สร้างเงินให้ประเทศไทยร่วม 40,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ราคามันสำปะหลังปีนี้ดีขึ้น มีช่องทางระบายไปตลาดต่างประเทศ เกิดผลดีกับเกษตรกร
         
นายจุรินทร์กล่าวว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับมันสำปะหลังเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นพืชเกษตรที่ปลูกมากเป็นลำดับที่ 3 ของโลก ประเทศไนจีเรียผลิตประมาณปีละ 63 ล้านตัน คองโกประมาณปีละ 46 ล้านตัน และไทยปีละ 30 ล้านตัน มีเกษตรกร กว่า 500,000 ครัวเรือนทำไร่มันสำปะหลัง และการส่งออกมันสำปะหลัง ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ส่งออกลำดับหนึ่งของโลก ปี 2565 ส่งออกหัวมันสด 37 ล้านตัน ทำเงินให้ประเทศ 4,400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 150,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11%

“ที่ผ่านมารัฐบาล กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผม ได้กำหนดยุทธศาสตร์มันสำปะหลังไทย 5 ปี ตั้งแต่ปี 2564-67 ทั้งการผลิต การตลาด และการแปรรูป เพื่อกำหนดทิศทางที่ชัดเจน พามันสำปะหลังไทยก้าวหน้าในเวทีโลก ด้านการผลิต มีการวิจัยพัฒนา สร้างท่อนพันธุ์ที่มีศักยภาพ ต้านทานโรคใบด่าง ตั้งเป้าผลผลิตไม่น้อยกว่า 5 ตันต่อไร่ ภายในปี 2567 และจะเพิ่มผลผลิตต่อปี จาก 30 ล้านตันเป็น 40 ล้านตัน สนองความต้องการของโลก ด้านการแปรรูป มุ่งเน้นทั้งมันเส้น แป้งมัน สาคู ในอนาคตจะเพิ่มอีกหลายชนิดที่มีศักยภาพและมั่นใจจะครองตลาดโลกมากขึ้น เช่น ไบโอพลาสติก อาหาร เครื่องดื่ม กาว กระดาษ แป้งมันปลอดกลูเตน ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับโลก ด้านการตลาดจะจับมือกับเอกชนเปิดตลาดใหม่ เช่น ฟิลิปปินส์ ที่สำเร็จแล้ว และตุรกี นิวซีแลนด์ นอกจากจีนที่เป็นตลาดหลัก”นายจุรินทร์กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายเร่งรัดยกระดับราคามันสำปะหลัง ถือเป็นยุคหนึ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง อดีตกิโลกรัมละบาทกว่า ยุคนี้ ราคาพุ่งต่อเนื่อง 2 ปีเต็ม วันนี้ราคามันสำปะหลังที่เชื้อแป้ง 25% อยู่ที่ 3.15-3.50 บาท/กิโลกรัม (กก.) แต่ถ้าวันไหนราคาตกต่ำกว่ากิโลกรัมละ 2.50 บาท มีประกันรายได้เกษตรกร จ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกร โอนเงินส่วนต่างเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง ตามรายได้ที่ให้หลักประกันกับเกษตรกรผู้ปลูก เพื่อมีรายได้พอยังชีพ ไม่เลิกการปลูกมันสำปะหลัง และให้ประเทศไทยเป็นคลังมันสำปะหลังป้อนโลกต่อไปในอนาคต

สำหรับการประชุมครั้งนี้ จะเป็นเวทีสำคัญให้ทุกประเทศที่ร่วมประชุมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ประสบการณ์กำหนดทิศทางอนาคตมันสำปะหลังไทยและโลกต่อไปในอนาคต โดยประเทศไทยพร้อมให้ความร่วมมือกับทุกประเทศในโลกเกี่ยวกับการผลิต การแปรรูป และการตลาดมันสำปะหลัง เพราะประเทศไทยมีนโยบาย ทิศทางชัดเจน ในการผลิตมันสำปะหลังคุณภาพและได้มาตรฐานป้อนตลาดโลก และสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมโลกต่อไป

การจัดงานในครั้งนี้ มีคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ สมาคมชาวไร่มันสําปะหลังแห่งประเทศไทย สมาคมการค้ามันสําปะหลังไทย (TTTA) สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสําปะหลังไทย (TTPFA) สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสําปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NETTA) และผู้แทนภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม

 

ที่มา : CNN 24 ก.พ. 2566 https://www.commercenewsagency.com/news/5769






Powered by Allweb Technology.